กรมอุทยานฯ ดัน "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน

สิ่งแวดล้อม
27 ก.ย. 62
07:08
4,351
Logo Thai PBS
กรมอุทยานฯ ดัน "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน
กรมอุทยานฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันปราบปรามการล่านกชนหิน สัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมดันสถานภาพเป็นสัตว์ป่าสงวน สู่แผนแม่บทแห่งชาติในการอนุรักษ์และเพิ่มประชากรนกชนหินในธรรมชาติ

จากกรณีกลุ่มอนุรักษ์นกเงือก กังวัลเกี่ยวกับการล่านกชนหินในไทยเพื่อส่งขายต่างประเทศ พร้อมเรียกร้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศให้นกชนหิน สัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย

วันนี้ (27 ก.ย.2562) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาการล่านกชนหิน แบ่งการล่าเพื่อเอาลูก ซึ่งฤดูกาลทำรังประมาณเดือนธันวาคม-พฤษภาคม​ และนายพรานล่าเพื่อเอาโหนก​ โดยปี 2558-2562 มีคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่า กรณีของนกชนหิน 3 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คน​ และยึดนกชนหินที่ยังมีชีวิต 3 ตัว และซาก 1 ตัว

 

ภาพ : นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ

ภาพ : นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ

ภาพ : นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ

จ้างพรานทำงานวิจัย เปลี่ยนผู้ล่าสู่ผู้พิทักษ์

สำหรับมาตรการป้องกันในปัจจุบัน​ กรมอุทยาน​ฯ​ ร่วมมือกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกมหาวิทยาลัยมหิดล ​โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก เป็นหัวหน้าโครงการ ทำวิจัยการทำรังของนกชนหิน เพื่อศึกษาพฤติกรรมสำหรับใช้ในการวางแผนการจัดการ และกรมอุทยานฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนการจัดการ​และเพิ่มการสำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เพื่อเฝ้าระวัง พร้อมเพิ่มเครือข่ายเฝ้าระวังด้วยการเปลี่ยนผู้ล่า มาเป็นผู้พิทักษ์โดยจ้างพรานที่เคยล่ามาเป็นทีมงานวิจัย

ส่วนมาตรการเชิงรุก​ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดการพื้นที่​ เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ที่พบนกชนหินอยู่อาศัย หากิน และทำรังโดยการจัดเจ้าหน้าที่สำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เพิ่มเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังดูแลนกชนหินในพื้นที่​ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานทั้งลักษณะตัว เสียงร้อง ลักษณะรังของนกชนหิน รวมทั้งจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์พื้นที่ของนกชนหินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการป้องกันและจัดการ​ สนับสนุนการดำเนินการคณะกรรมการพื้นที่อนุรักษ์ (PAC) เพื่อการจัดการและเฝ้าระวังการลักลอบล่านกชนหิน​ การบังคับใช้กฎหมาย และการกำหนดนโยบายการจัดการที่ชัดเจน

 

ดัน "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน

นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมตำรวจ กรมศุลกากรและหน่วยงานปกครองในการเฝ้าระวัง ปราบปราม และบังคับใช้กฎหมาย​ บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลในการติดตามการซื้อขายซากและผลิตภัณฑ์ของนกชนหินเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งปรับสถานภาพนกชนหินจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อเพิ่มความสำคัญในการกำหนดมาตรการการอนุรักษ์​ การสืบสวน สอบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้การตรวจพิสูจน์เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน​

แผนแม่บทการจัดการนกชนหินแห่งชาติ

จัดทำแผนแม่บทการจัดการนกชนหินแห่งชาติ โดยจัดทำแผนที่เส้นทางการล่า ค้า และศูนย์กลางการกระจายสินค้าผิดกฎหมาย รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่นั้น ๆ ร่วมติดตาม​การฟื้นฟูประชากรนกชนหินในพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัย​ เพิ่มอัตราการรอดตายของลูกนกชนหินในธรรมชาติด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังภัยคุกคามทั้งจากสัตว์ผู้ล่าและมนุษย์, จัดทำรังเทียมในพื้นที่อาศัยของนกชนหินเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรังและเพิ่มประชากรในธรรมชาติ​, นำผลงานวิจัยมาวิเคราะห์ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการวางแผนการศึกษาแนวทางในการเพิ่มประชากรนกชนหิน,​ ส่งเสริมการศึกษา การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน​ เผยแพร่ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการรักษาและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้กับชุมชนในท้องถิ่น​ สร้างเครือข่าย รัก(ษ์) นกชนหิน รอบพื้นที่อนุรักษ์ที่พบการกระจายของนกชนหิน​ และจัดทำหลักสูตรนกชนหินศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนในพื้นที่รอบพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นแหล่งอาศัยของนกชนหิน

นอกจากนี้ ไทยยังมีเรื่องการอนุวัตตาม CITES กำหนดให้มีการประเมินตนเองด้วยตัวชี้วัด 50 ตัว ครอบคุมด้านบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดีการสนธิกำลังในและระหว่างประเทศการปรับพฤติกรรมลดการบริโภค การสร้างจิตสำนึกร่วมด้วย

 

ภาพ : องค์กร TRAFFIC

ภาพ : องค์กร TRAFFIC

ภาพ : องค์กร TRAFFIC

เปิดข้อมูลขายผลิตภัณฑ์นกชนหินออนไลน์

ขณะที่องค์กร TRAFFIC สำรวจติดตามและศึกษาเพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน Rhinoplax vigil รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่น ๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือเฟซบุ๊กทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทย โดยทุกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 - เมษายน 2562 มีประเด็นสำคัญ​ ดังนี้​

พบการโพสต์เสนอขายอย่างน้อย 236 โพสต์​ ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น ใน 32 กลุ่ม จากทั้งหมด 40​ กลุ่มที่ทำการสำรวจติดตาม​ โพสต์ทั้งหมดถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึงเมษายน 2562 ซึ่งนกชนหิน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83 จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด

แบ่งหมวดหมู่ของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกที่ถูกเสนอขายออกเป็น 8 หมวดใหญ่ ได้แก่ โหนกหัว, จี้ห้อยคอ, แหวน, สร้อยคอ, กำไลข้อมือ, หัวเข็มขัด, นกสตาฟ และชิ้นส่วนย่อยอื่นๆ​ เครื่องประดับที่พบบางส่วน ถูกประดับตกแต่งด้วยชิ้นส่วนของสัตว์ป่าอื่น ๆ รวมไปถึงงาช้าง เขี้ยวเสือ และเล็บเสือ​ ชิ้นส่วนหัวที่สมบูรณ์ของนกเงือกอีก 8 ชนิดพันธุ์ที่พบทั้งหมดมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย​ ถูกพบในการสำรวจติดตามนี้ด้วย โดยนกกกหรือนกกาฮัง Buceros bicornis มีจำนวนมากที่สุด

สำหรับนกชนหิน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอนุสัญญาไซเตส จัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1​ ปัจจุบันพบการกระจายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี​ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง​ มีประชากร​ ประมาณ 20 ตัว ในปี 2562 นกชนหินทำรังสำเร็จ 2 โพรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกสั่งล่า! เสี่ยงสูญพันธ์ุ ดัน "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน 

"นกชนหิน" ถูกล่าตัดหัว สังเวยค่านิยมเครื่องประดับ 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง