365 วัน "กรุงเทพมหานคร" เมืองในฝุ่น

สิ่งแวดล้อม
29 ก.ย. 62
17:27
14,784
Logo Thai PBS
365 วัน "กรุงเทพมหานคร" เมืองในฝุ่น
"กรมควบคุมมลพิษ" แจ้งเตือนประชาชน 15 พื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล ค่าฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน จากสภาพอากาศ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หากใช้การวัดค่าตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก คนกรุงเทพฯ อาจอยู่ใน "ดงฝุ่น" ตลอดทั้งปี

รู้หรือไม่? ฝุ่นกรุงเทพฯ อยู่กับเราทุกวัน ...

ปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 คนกรุงเทพฯ รู้จักฝุ่นละอองจิ๋วขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ดียิ่งขึ้น วิกฤตฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนการรับรู้ของประชาชนไปตลอดกาล ว่าหมอกจาง ๆ ยามเช้า ช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศปิด แท้ที่จริง คือ ฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศ

ปีนี้ ทันทีที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (ประเทศไทย) คนกรุงเทพฯ ภาครัฐ รวมถึงสื่อมวลชน จึงตื่นตัว แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการใช้ชีวิตกลางแจ้ง หลบภัยร้าย ที่อาจรอดพ้นการดักจับของทางเดินหายใจ เข้าไปถึงปลายทาง คือ ถุงลมฝอยของปอดได้โดยตรง

กรมควบคุมมลพิษ ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชน 15 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศจากประเทศจีนอ่อนกำลังลง อากาศนิ่ง และจมตัว ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง คุณภาพอากาศจึงอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2562)

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ


แต่จริง ๆ แล้ว ค่าเกณฑ์มาตรฐานของเจ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการและระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าหากจะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศควรเริ่มที่ตรงไหน การปรับค่าเกณฑ์มาตรฐาน จะเป็นตัวกระตุ้นสำหรับการออกนโยบายด้านต่าง ๆ ให้สอดรับกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างจริงจังได้หรือไม่ 

เครื่องตรวจวัด PM2.5 ของ กทม.มีไม่ครบทุกเขต  


ภาพแสดงจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือ ค่าฝุ่นละอองของ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่า มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดในพื้นที่ 48 เขต จากทั้งหมด 50 เขต (เขตดินแดง และ เขตราษฎร์บูรณะ ไม่มีเครื่องตรวจวัดฯ)

แต่มีเพียง 23 เขต 27 จุดตรวจวัด ที่มีการวัดค่าฝุ่น PM2.5 และมีเพียง 3 เขตเท่านั้น ที่มีเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นครบทั้ง 2 ประเภท คือ PM10 และ PM2.5

จากภาพนี้ ยังทำให้เห็นว่า จุดติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 กระจายตัวอยู่ในเขตต่าง ๆ แต่กระจุกตัวอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ 
 


หากดูค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในรอบ 12 เดือน หรือ 365 วัน จาก 1 ก.ย.2561 - 31 ส.ค.2562 ทำให้เห็นว่า หากเราใช้เกณฑ์มาตรฐานตามองค์การอนามัยโลก หรือ WHO คือ เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม. ทุกเขต ที่มีเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน

แต่หากเราใช้เกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย คือ เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. จะเห็นได้ว่า เขตที่น่าจะมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน นั้นกระจายอยู่เพียงในฝั่งพระนคร

ทุกเขตที่มีการตรวจวัด "ไทย" เกินมาตรฐานโลก 


เมื่อนำมาเทียบในตารางนี้ จะเห็นได้ว่า ในจำนวน 23 เขต ที่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 มีเพียง 2-3 เขต ที่อยู่ในระดับมาตรฐาน ตามเกณฑ์ของประเทศไทย และแน่นอนว่า ทุกเขต เกินค่ามาตรฐานระดับโลก

 

เมื่อดูจุดติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ที่สูงที่สุดใน 5 เขต คือ วังทองหลาง บางคอแหลม คลองสาน บางพลัด และบึงกุ่ม จะพบว่า มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 อยู่ริมถนนสายหลัก ใกล้แยก และมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น หน้าสถานีบริการน้ำมัน ป้อมตำรวจจราจร สวนหย่อม หรือ สวนสาธารณะ รวมถึงศาลพระภูมิ สอดคล้องข้อมูลทางวิชาการจากหลายแหล่ง ที่ยืนยันถึงแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5


นอกจากนี้ จากรายงาน โครงการการจัดทำแผนที่สถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทย ปี 2560 คพ. ระบุว่า พื้นที่ที่มีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 สูงสุด คือ พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ และพื้นที่บริเวณชานเมือง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและฤดูแล้ง ซึ่งมีการเผาชีวมวล ส่งผลให้ลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพามลพิษอากาศเข้าสู่กรุงเทพฯ และเป็นผลให้ความเข้มข้นมลพิษอากาศสูงในช่วงเวลาดังกล่าว

รถยิ่งชะลอ ค่าฝุ่น PM2.5 ยิ่งเพิ่ม


ภาพนี้ยืนยันว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญ ของแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร คือ รถยนต์และการจราจร หากรถยิ่งเคลื่อนตัวช้า ค่าฝุ่นก็ยิ่งเพิ่ม

ต.ค. - ก.พ. คนกรุงฯ ต้องยิ่งระวังฝุ่นเพิ่ม

ค่าเฉลี่ยรายปีอาจจะเกินเกณฑ์มาตรฐาน WHO ถ้าอย่างนั้นลองดูกันว่า หากดูตามค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ช่วงเวลาไหน ที่คนกรุงเทพฯ อยู่กับค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานกันบ้าง 
 


จากกราฟจะพบว่า ค่าฝุ่นเริ่มสูงขึ้นช่วงปลายเดือน ต.ค. และสูงสุดช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงก่อนและระหว่างฤดูหนาว คนกรุงเทพฯ อาจต้องลองเช็คให้ชัวร์ว่า ถึงฤดูกาลที่ต้องหยิบหน้ากากป้องกันฝุ่นมาสวมใส่ หรือ ลดกิจกรรมกลางแจ้งลงแล้วหรือยัง จนกว่าจะเข้าสู่ช่วงเดือน ก.พ. ที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ (ตามเกณฑ์มาตรฐานประเทศไทย)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่อาศัยในเขตวังทองหลาง บางคอแหลม คลองสาน บางพลัด และบึงกุ่ม ที่มีค่าฝุ่นโดยเฉลี่ยสูงที่สุดจากจำนวน 23 เขต ที่มีเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ในปีที่แล้ว (2561)
 

วันหยุด - วันทำงาน ไม่มีผลต่อค่าฝุ่น


ช่วงเวลาที่น่าสนใจของเขตวังทองหลาง ซึ่งมีค่าฝุ่นสูงที่สุด จะพบว่า ปัจจัยของวันทำงาน หรือ วันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่มีผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 แต่ช่วงเวลาที่ฝุ่นพุ่งสูง คือ ช่วงเวลากลางคืน จนถึงช่วงสายของวันจนถึงช่วงเที่ยง และที่น่าสนใจ คือ ช่วงปลายเดือน ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงตลอดทั้งวัน
 


เมื่อเทียบเกณฑ์มาตรฐานของ WHO กับ เกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ประเทศไทย ยังใช้เกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. หรือ เกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ก็จะเห็นว่าค่าฝุ่น PM2.5 ไม่ได้หนักหนาหรือมีผลต่อสุขภาพเท่าไหร่

แต่หากใช้เกณฑ์มาตรฐานของ WHO ตลอด 365 วัน คนไทย อยู่กับค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน จึงน่าตั้งคำถามว่า เพราะคนไทยมีภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ ที่แข็งแรงกว่าประชาชนในประเทศอื่น ๆ ที่กำหนดค่าฝุ่นตามเกณฑ์มาตรฐานโลกใช่หรือไม่
 

คนไทย อยู่กับฝุ่นตลอดทั้งปี

ไม่เพียงฝุ่นกรุงเทพฯ แต่หากดูแนวโน้มการเกิดฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย คนไทยอยู่กับฝุ่นตลอดทั้งปี เพราะเมื่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เริ่มคลี่คลายในช่วงเดือน ก.พ. หลังจากนั้นภาคเหนือจะเข้าสู่ช่วงชิงเผา พร้อมด้วยปัจจัยการเผาไหม้จากประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงเดือน ก.พ. จนถึงเดือน เม.ษ. รวมถึงกิจกรรมภาคการเกษตร เช่น การเผาอ้อยและตอซังข้าวเพื่อปรับพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลางสูงขึ้นตามมา และเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปีค่อนไปทางปลายปี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน

แก้ฝุ่น เริ่มที่ตรงไหน

งานวิจัย โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ของ คพ. เสนอมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 โดยมี 21 มาตรการระดับนโยบาย และ 6 มาตรการในช่วงวิกฤต 

มาตรการเชิงนโยบาย

  • ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การขยายเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศ รวมถึงข้อมูลการตรวจวัดโดยประชาชน โดยใช้นวัตกรรม
  • ด้านองค์ความรู้ เช่น ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศ
  • ด้านการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ รวมถึงลดการเผาในที่โล่ง
  • ด้านการบริหารจัดการการขนส่ง ผังเมือง และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ปรับปรุงผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อลดปริมาณการขนส่งและลดมลพิษ รวมถึงส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ และปลอดมลพิษ

ส่วน มาตรการในช่วงวิกฤต เช่น กำหนดแผนงานในช่วงวิกฤต, ขยายเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าเป็นตลอด 24 ชั่วโมง และลดแหล่งกำเนิดมลพิษในภาครัฐ

เครือข่ายอากาศสะอาด เสนอ เริ่มที่ "Clean Air Act"

"การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน มีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายใหม่ และองค์กรใหม่" คือ ความเห็นของเครือข่ายวิชาการ ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และบางหน่วยงานของรัฐ ที่รวมตัวกันในนาม "เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย" ที่นำเสนอผ่านสมุดปกขาวว่าควรมี 1) พระราชบัญญัติอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act: CAA โดยระบุว่า จะเป็นกฎหมายเพื่อรับรอง "สิทธิของประชาชนที่จะหายใจอากาศสะอาด" และกำหนด "หน้าที่ของรัฐ" ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการทำให้สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง

และ 2) จัดตั้งองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Thai Environmental Protection Agency: TH EPA เพื่อเป็นองค์กรกำกับดูแลและสั่งการ ที่มีอำนาจจริงในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ โดยเฉพาะการจัดการหมอกควัน ไฟป่า และแหล่งกำเนิด PM2.5
 

นโยบายแก้ปัญหา "ฝุ่น" เดินหน้าถึงไหน?

ประเทศไทย มี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่โดยตรงในการกำกับนโยบายด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แต่จนถึงเวลานี้ ประชาชนอาจตั้งคำถามว่า บทเรียนของวิกฤตฝุ่นพิษเมื่อปีที่แล้ว ได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายและมีการนำมาปฏิบัติใช้ในระดับประเทศแล้วอย่างไร

ส่วนระดับท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร มีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่ม เพื่อให้ครอบคลุมทุกเขต แต่หากจะทำให้การตรวจวัดเป็นไปอย่างมาตรฐาน 1 เขต ต่อ 1 เครื่องนั้น น่าสนใจว่า เพียงพอหรือไม่ ที่จะทำให้ค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับสถานการณ์ฝุ่นจริงมากที่สุด

ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ดูผิวเผินอาจเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมปลายทาง แต่สะท้อนถึงนโยบายด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดมลพิษต้นทาง

ในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร และองค์กรท้องถิ่นระดับจังหวัด หรือ อบจ. ที่อาจมีการเลือกตั้งผู้บริหารช่วงปลายปีนี้ จนถึงช่วงต้นปีหน้า จึงน่าติดตามว่า การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญ ผู้ลงชิงตำแหน่ง จะนำเอานโยบายสิ่งแวดล้อมนี้มาพูดถึง มากน้อยแค่ไหน

 

หมายเหตุ : ข้อมูลฝุ่น 50 เขต คำนวณจาก MANUAL REPORT กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการคำนวณ 365 วัน ระหว่างวันที่ 1 ก.ย.2561 - 31 ส.ค.2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เช้านี้ กทม.-ปริมณฑล ฝุ่น PM 2.5 เริ่มกระทบสุขภาพ 13 พื้นที่

เช็ก 15 พื้นที่ กทม. - ปริมณฑล ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

หมอกควันไฟป่าเกาะสุมาตรา ดันค่าฝุ่น PM2.5 "หาดใหญ่" พุ่งสูงสุดรอบ 3 ปี

ภาคเหนือวิกฤตฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 14 จุด เชียงราย พุ่ง 211 มคก./ลบ.ม.

เผาไร่อ้อย-ตอซังข้าว ทำค่าฝุ่นภาคอีสานสูงเกินมาตรฐาน 

 

  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง