"นาซา" เตือนโลกอยู่ในช่วงครึ่งทศวรรษร้อนที่สุดรอบ 120 ปี

ภัยพิบัติ
1 ต.ค. 62
17:39
6,515
Logo Thai PBS
"นาซา" เตือนโลกอยู่ในช่วงครึ่งทศวรรษร้อนที่สุดรอบ 120 ปี
"นาซา" เตือนทั่วโลกเผชิญความร้อนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาฯ แต่ถือเป็นช่วงครึ่งทศวรรษร้อนที่สุดในรอบ 120 ปี ชี้อีก 4 ปีข้างหน้าอาจแตะถึง 1.5 องศาฯ ขณะที่สถิติไทยในรอบ 37 ปี อุณหภูมิต่ำสุดแค่ 25-30 องศาฯ จากเดิม 22 องศาฯ

วันนี้(1 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง องค์การนาซายืนยันว่าโลกอยู่ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ร้อนที่สุดในรอบ 120 ปี ดังนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ระบุว่าในปี 2018 หรือพ.ศ. 2561 เป็นอีกปีหนึ่งที่ร้อนที่สุด

โดยอุณหภูมิที่วัดได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1951-1980 อยู่ที่ 0.83 องศาเซลเซียส (หรือ 1.5 องศาฟาเรนไฮต์) นับว่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 4 นับตั้งแต่ได้มีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 1880 ในความเป็นจริง 5 ปีที่ผ่านมานั้นเป็น ปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการตรวจวัดแบบสมัยใหม่

นักวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอวกาศจากสถาบัน Goddard ของนาซาในเมืองนิวยอร์ก ระบุว่า ในปี 2016 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยปี 2017 จะมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ในปี 2015 

ข้อสรุปว่าสถิติในช่วง 5 ปีนี้ เป็นช่วงครึ่งทศวรรษที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบ 120 ปี

ชี้ภายในปี 2019-2023 โลกร้อนขึ้นถึง 1.5 องศาฯ

ทั้งนี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า อุณหภูมิในปี2016 คือปีที่ทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส เนื่องด้วยได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง ทำให้ความร้อนในชั้นบรรยากาศมีค่าสูงขึ้นกว่าปกติ เป็นผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ได้ออกมาเตือนถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเมื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าก่อนยุคอุตสาหกรรมกับในปัจจุบัน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก 

หากการเพิ่มขึ้นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้มีความเป็นไปได้ถึง 10 % ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในปีใดปีหนึ่งในช่วงระหว่างปี 2019-2023

โดยองค์การ NASA ได้กล่าวเสริมว่า อุณหภูมิดังกล่าวอาจจะเกิดการผันผวนได้ตามแต่ละภูมิภาค แต่บริเวณอาร์กติกจะเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ โลกร้อนรุนแรงที่สุด เห็นได้จากธารน้ำแข็งที่หดตัวและมีการลดลงของจำนวนน้ำแข็งในทะเลอย่างต่อเนื่อง

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

อุณหภูมิในระยะยาวมีแนวโน้มสูงขึ้น

ในส่วนของนักวิจัยจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก มีความเห็นว่าควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแนวโน้ม
สถิติของอุณหภูมิในระยะยาวมากกว่าการจัดอันดับให้กับอุณหภูมิสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีเนื่องจากหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆในปีถัดไป และดูเหมือนภาวะโลกร้อนน่าจะสร้างสถิติ

อุณหภูมิสูงที่สุดในปี 2019 แต่หากย้อนอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นในแต่ละปีนับตั้งแต่ปี 2001 เกิดขึ้นทั้งหมด 18 ครั้ง แล้วในรอบ 19 ปี

Dr. Gavin Schmidt ผู้อำนวยการแห่งสถาบัน GISS ได้กล่าวไว้ว่าปี 2018 เป็นปีหนึ่งที่มีอุณหภูมิสูงเป็นลำดับต้นๆ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 2 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 1 องศาเซลเซียส ซึ่งเวลาที่ยาวนานที่โลกต้องเผชิญในปีที่ร้อนที่สุดดูจะสำคัญเหนือกว่าการจัดอันดับความร้อนให้กับโลกในแต่ละปี

ผลค่าวิเคราะห์อุณหภูมิขององค์การนาซ่า ที่ได้จากการรวบรวมอุณหภูมิผิวพื้นทั้งหมดที่ได้จากสถานีตรวจอากาศภาคพื้นกว่า 6,300 แห่ง รวมทั้งการสำรวจอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลที่ได้จากเรือ ทุ่น และสถานีวิจัยในแอนตาร์กติกาทั้งหมด

โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้เกิดอุณหภูมิสูงขึ้นมากอย่างผิดปกติทั้งที่วัดได้จากบนภาคพื้นดินและมหา สมุทร ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกได้ถึงสภาพอากาศที่มีความรุนแรงและผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศน์อีกด้วย 

ฤดูหนาวของไทยอุณหภูมิต่ำสุดแค่ 25-30 องศา 

สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทย เมื่อพิจารณาในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2524-2561) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ในอดีตกลางวัน และกลางคืนอุณหภูมิแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ได้ร้อนทั้งวัน แต่ปัญหาสภาพอากาศในปัจจุบันนี้คือ ลักษณะอากาศมีความร้อนอบอ้าวทั้งวัน ทั้งที่กลางคืนควรจะเย็นลงกลับไม่เย็น อุณหภูมิต่ำสุด และสูงสุดใกล้เคียงกันโดยอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-40 องศาเซลเซียส ทำให้คนรู้สึกถึงอากาศที่ร้อนจัด

จากข้อมูลภูมิอากาศในอดีตค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดของประเทศไทยคือ 22 องศาเซลเซียส แต่ในปัจจุบันอุณหภูมิต่ำสุดกลับสูงขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส

 

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

 

ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมาผิดปกติ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนรายปีในประเทศไทยยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากมีความผันแปรไปตามปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝนในแต่ละปี แต่สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือจำนวนวันที่ฝนตกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ความเข้มของฝนที่ตกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ออสเตรเลียร้อนจัด 47 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติในรอบ 79 ปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง