หลังม่านร่าง รธน.ใหม่

Logo Thai PBS
หลังม่านร่าง รธน.ใหม่
นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เมื่อผู้เคยเคลื่อนไหวการเมืองในความขัดแย้งต่างสีเสื้อ มารวมตัวด้วยวัตถุประสงค์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สอดคล้องกับ 7 พรรคฝ่ายค้านที่มุ่งหาแนวร่วมในสภาฯ แต่เมื่อวาระเบื้องหลังที่แตกต่าง อะไรจะเกิดขึ้นก่อนก้าวถึงบันไดขั้นสุดท้าย

แก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ, ยกเลิก ส.ว., ยุติผลพวงคำสั่ง คสช., ป้องกันการทำรัฐประหาร คือเป้าหมายส่วนหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนต่างฝ่ายต่างความคิดให้มานั่งคุยกันได้


เวทีเสวนาของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เมื่อ 30 กันยายน 2562 ปรากฏบุคคลแทบทุกเฉดในสงครามสีเสื้อ ทั้ง นปช.-พันธมิตร-กปปส. ตัวแทนกว่า 30 องค์กรมีทั้งสมยศ พฤกษาเกษมสุข, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ณัฏฐา มหัทธนา นั่งร่วมกับกษิต ภิรมย์, สาวิทย์ แก้วหวาน, ธัชพงศ์ แกดำ รวมถึงสื่อมวลชน ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสิทธิมนุษยชน

 

เรียกได้ว่าวาง “ระบอบทักษิณ” และสารพัดวาทกรรมสร้างความเกลียดชังที่เคยสาดใส่กัน สงบศึกชั่วคราวยามศัตรูร่วมยืนอยู่ตรงหน้า คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ของมีชัย ฤชุพันธ์ และกรธ.

พวกเขาต้องการ รธน.ใหม่ แต่วิธีการได้มาและเนื้อหาสาระยังต่างคนต่างความคิด ไม่ตกผลึก และแนวร่วมยังไม่มากพอ สะท้อนจากท่าทีพร้อมเปิดรับทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ชูแนวคิดสภาร่างรัฐธรรมนูญและประชามติเสรีเป็นเครื่องมือ

อีกด้านยังมี คณะรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นำโดยอนุสรณ์ อุณโณ และพริษฐ์ วัชรสินธุ ในนาม “กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า” เคลื่อนไหวคู่ขนาน ซึ่งสักวันคงมาบรรจบกัน 

 

สมทบด้วย 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เดินสายเปิดเวทีรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาแล้วในหลายจังหวัด และทันทีที่เปิดประชุมสภา จะขอแรงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล และเมื่อรวบรวมเสียงได้มากพอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ เป้าหมายสุดท้ายที่พวกเขาจะไปคุยด้วย

 

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

 

เพราะขวากหนามสำคัญ คือ มาตรา 256 กำหนดเงื่อนไขอยากแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงทุกขั้วในรัฐสภา รวมถึง ส.ว.แต่งตั้ง เมื่อด่านแรกแทบเป็นไปไม่ได้ มาตรา 166 จึงเป็นตัวเลือกใหม่ กดดันฝ่ายบริหารเสนอทำ “ประชามติ” เปิดทางแก้ไข

 

แต่ใช่ว่าฟากฝั่งรัฐบาล นำโดยพรรคพลังประชารัฐ จะยอมเป็นเป้านิ่งให้ชกข้างเดียว แฮชแท็ก #ประชาธิปไตยไทยอิ่ม ชูผลงานด้านบวกของนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, “ชิม ช้อป ใช้” และอีกสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต สื่อความหมาย “ปัญหาปากท้อง สำคัญกว่าแก้รัฐธรรมนูญ” 

ภาพ : พรรรคพลังประชารัฐ

ภาพ : พรรรคพลังประชารัฐ

ภาพ : พรรรคพลังประชารัฐ

 

และแม้ถูกตั้งข้อสังเกต ว่าคณะรัฐมนตรีกระทำการขัดรัฐธรรมนูญหลายครั้ง กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่ชี้แจงที่มางบประมาณในการแถลงนโยบายต่อสภาฯ และไม่ปฏิบัติตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งผลจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สามารถทำให้ “รัฐบาลอื่น” สิ้นสภาพ แต่สุดท้าย “ครม.ประยุทธ์ 2” ก็ยังผ่านไปได้ 

เมื่อเดินสะดุดทั้งก้อนหินกับเท้าตัวเองกี่ครั้งก็ยังไม่ล้ม แล้วมีความจำเป็นอะไรต้องไปคล้อยตามคำชวนของฝ่ายค้าน

สนธิ ลิ้มทองกุล ผันตัวจากแกนนำการชุมนุมสู่ “ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง” แม้เพิ่งออกจากเรือนจำไม่นาน แต่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ วิเคราะห์การเมืองไทยและโลกราวกับไม่ได้หายไปไหน พร้อมป่าวประกาศ “ไม่ให้ใครมาหลอกใช้อีกแล้ว”

ผู้กล่าวโจมตีมาแล้วทุกรัฐบาล ทุกขั้วการเมือง ไล่เรียงนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ ทักษิณ-พล.อ.สุรยุทธ์-สมัคร-สมชาย-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำ กปปส.อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ แม้ใครจะเกลียดเข้ากระดูกดำ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชายวัย 72 ปี ยังทรงอิทธิพลทางความคิด และน่าสนใจว่าเขามองอย่างไรกับการแก้รัฐธรรมนูญ

สุดท้าย เมื่อเป้าหมายหนึ่ง คือ ลดบทบาททหาร ป้องกันการยึดอำนาจ คงต้องดูท่าทีจากผู้นำเหล่าทัพ ที่สืบทอดกันมาด้วยระบอบอันเข้มแข็ง อย่าลืมว่าตีกันมือเปล่าอย่างมากก็เจ็บตัว แต่ผู้ถืออาวุธนั้นทำให้เลือดนองแผ่นดินได้ การรวมตัวคึกคัก พร้อมหรือไม่กับการฝ่าด่านต่างๆ ไม่นับรวม “ปัญหาภายในที่อยู่นอกวง” ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เชื่อว่างานนี้มี “คนเบี้ยว” แน่นอน มือที่เคยจับแน่นอาจถูกคลื่นใต้น้ำแยกออกจากกันระหว่างทาง
หากเป็นเช่นนั้น การแก้รัฐธรรมนูญใหม่อย่างสันติ ผลักดันประชาธิปไตยไทยสู่ความสดใส คงยุติลงเมื่อลืมตาตื่นมาพบความจริง เพราะทุกคนมีอดีต มีเป้าหมาย มีวาระส่วนตัวทั้งเบื้องหน้าและซุกซ่อนไว้ด้านหลัง คะแนนเสียงในสภา, อนาคตทางการเมือง, ล้างประวัติเสีย สร้างชื่อเสียงดี, เป็นผู้ชี้นำสังคม, ลาภยศ อำนาจและเงินตรา ถึงถูกจดจำฐานผิดสัญญาอีกสักครั้ง มันอาจจะคุ้มค่าก็เป็นได้

จตุรงต์ แสงโชติกุล 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง