ยังไม่หยุด! "พะยูน" ถูกอวนรัดตายเพิ่มตัวที่ 21

Logo Thai PBS
ยังไม่หยุด! "พะยูน" ถูกอวนรัดตายเพิ่มตัวที่ 21
น่าเศร้า! ปีนี้พะยูนไทยตายเพิ่มตัวที่ 21 นักวิชาการวอนขอเป็นตัวสุดท้ายหลังพบตัวล่าสุดตายคาอวนในพื้นที่แหลมไม้ตาย จ.พังงา ด้านกลุ่มพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง จี้หน่วยงานภาครัฐไขปริศนาเงื่อนงำพะยูนตายมากผิดปกติ หลังสร้างกติกาชุมชนอนุรักษ์พะยูน

วันนี้ (2 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยา ลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่าตายอีกแล้วครับ นับเป็นตัวที่ 21 ในปีนี้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

พะยูนตัวนี้ตายอยู่ที่แหลมไม้ตาย บ้านทุ่งรัก อำเภอคุระบุรี จ.พังงา ใกล้เกาะระ เกาะพระทองเพื่อนธรณ์อาจสงสัย ไม่ใช่ที่ตรังกระบี่หรือ ? พะยูนในไทย 250 ตัว อยู่ตรัง กระบี่ 200 ตัว ที่เหลืออยู่ตามแหล่งอื่นอีก 11 แห่ง รวมเป็น 12 แหล่งทั่วไทย ทะเลชายฝั่งคุระบุรีถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดในพังงา และเป็น 1 ใน 12 เขตที่อยู่ในแผนอนุรักษ์พะยูนใน #มาเรียมโปรเจ็ค

สาเหตุการตายเห็นชัด ลองดูภาพ จะเห็นอวนดักปลาติดอยู่ พะยูนเป็นสัตว์หายใจด้วยปอด เมื่อติดอวนก็จมน้ำตาย

 

ตามที่เคยบอกไว้ 90% ของพะยูนที่ตายจากผลของมนุษย์ เป็นปัญหาจากเครื่องมือประมง การทำประมงทับซ้อนในพื้นที่หากินพะยูน จำเป็นต้องวางแผนในการแก้ไขอย่างรอบคอบ มิใช่ออกกฎเกณฑ์ไปเรื่อย โดยที่ปฏิบัติตามไม่ได้

แผนอนุรักษ์พะยูนที่คณะสัตว์ทะเลหายาก เพิ่งเสนอผ่านคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ รอเข้าครม. จะเน้นเรื่องการหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับพะยูน โดยตั้งเป้า 12 พื้นที่ รวมทั้งตรงนี้ด้วย ผมพูดคุยกับพี่น้องแถวนั้น เขาก็อยากให้เกิดการอนุรักษ์อย่างจริงจังสักที โดยอาจนำตัวอย่างจากตรังมาประยุกต์ใช้

ให้ชาวบ้านอยู่ได้ พะยูนอยู่ได้ มิใช่อนุรักษ์อย่างเดียวจนชาวบ้านไม่รักพะยูน ถึงตอนนี้ คงไม่มีอะไรจะเสนอแนะอีกแล้ว ยกเว้นภาวนาให้ 21 พะยูนในปีนี้ไปสู่สวรรค์ และอย่าให้มีตัวที่ 22 เลย

สุดท้ายที่หวังคือขอให้ มาเรียมโปรเจ็ค ผ่านครม.ได้งบพอเพียงตามที่ขอ และแผนอนุรักษ์ 3 ปี (63-65) เดินหน้าเต็มตัว เราสูญเสียมากเกินไปแล้วจริงๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ไทม์ไลน์ พะยูนตายปี 62 ทะเลกระบี่-ตรัง

ชาวบ้านจี้หาสาเหตุพะยูนตายเพิ่ม

ด้านนายสุวิท สารสิทธ์ กลุ่มพิทักษ์ดุหยง หมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เขาเป็นแม่นมของลูกพะยูนมาเรียม ตั้งแต่วันแรกที่มาเรียมเดินทางมาถึงเกาะลิบง ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รวมเวลา 3 เดือน 11 วัน

บังบอกกับเราว่า ถึงวันนี้ยังคงคิดถึงมาเรียม เพราะนับแต่วันแรกที่ต้องป้อนนมและอยู่กับมาเรียมจนถึงวินาทีสุดท้ายที่ตาย แรกๆยังช่วงแรกทุกคนเสียใจที่มาเรียมตาย แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้น ที่ผ่านมามีพะยูนตายในทะเลตรัง จอมาหลายเคสเพราะต้องช่วยในการเก็บข้อมูล ส่งซากของกลุ่มพิทักษ์ดุหยงต้องทำงานในส่วนนี้อยูแล้ว 

สำหรับมาเรียม มันมากด้วยความรู้สึกที่เราดูแล 3 เดือน 11 วันมีความผูกพัน เหมือนกับลูกไปเลย

 

นายสุวิท บอกว่า สถานการณ์พะยูนตายมาก ตอนนี้อยากให้ภาครัฐเข้ามาติดตาม ประเมินผลว่าเกิดอะไรขึ้น มันต้องมีอะไรที่หาหลักฐานไม่ได้ มันต้องทำอะไรสักอย่าง ทั้งนี้เชื่อว่าหน่วยงานภาคัรฐเองมีความพร้อม แต่ถามว่าคนในชุมชนเรมีความพร้อมหรือไม่ หรือจะทำงานร่วมกันเอาจริงจังในเรื่องนี้ จัดการอย่างไร

ตอนนี้ทุกคนรู้ว่ามันมีเงื่อนงำ มีอะไรหลายอย่างเรื่องการตายของพะยูน และซากพะยูน

พร้อมกันนนี้ยังตั้งฝากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานพื้นที่รอบเกาะลิบงให้จัดการปัญหา ลุกขึ้นมาว่าต้องจัดการจัดเรื่องนี้ให้เด็ดขาด ประกาศมาตรการออกมาชัดเจน

เช่นเดียวไกด์นำเที่ยวที่เกาะลิบง บอกว่า เสียดายที่มีพะยูนตายมากในปีนี้ โดยเฉพาะมาเรียม เป็นจุดดึงดูดคนเข้ามาที่เกาะลิบง และหันมาใส่ใจพะยูนมากขึ้น เพราะพะยูน ไม่ใช่เป็นสัตว์ทะเลหายากที่ชาวประมง และชาวเกาะรักและหวงแหน แต่ยังเป็นเหมือนพี่น้องต้องดูแลให้อยู่กับเกาะลิบงไปตลอด

ตั้งแต่เด็กไปออกเรือกับพ่อแม่ ก็เห็นพะยูนมาว่ายกินหญ้าทะเลแถวอ่าวดุหยง ที่มีแปลงหญ้าทะเลอยู่มาก เห็นมานับครั้งไม่ถ้วน ทุกครั้งที่เห็นพะยูน จะรู้สึกประทับใจ เพราะตัวเขาใหญ่หน้าตาเหมือนหมู อยากให้คนที่มาเที่ยวได้เห็นพะยูนเกิดความรักและหวงแหนเหมือนคนที่นี่

จากงานวิจัยสู่กติกาชุมชน

นายสุเทพ ขันชัย หรือบังเทพ โครงการวิจัยแนวทางการอนุรักษ์พะยูนโดยชุมชนเกาะลิบง อ.กันตัง จังหวัดตรัง” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บอกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้พะยูนลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมง และพื้นที่หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งหากินของพะยูนลดลง จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำกิจกรรม เริ่มจากการสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชนเกาะลิบงที่มีต่อพะยูน และการสำรวจเครื่องมือการทำประมงที่มีอยู่ในชุมชน

จากการสำรวจชาวบ้านส่วนใหญ่มีความรัก และผูกพันกับพะยูน และเห็นด้วยที่จะช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก เช่น บ่อยครั้งที่ชาวบ้านไปพบเห็นพะยูนกินหญ้าเพลินจนกลับลงน้ำไม่ทัน หรือถูกคลื่นพัดมาเข้ามาเกยตื้นก็จะช่วยกันพาพะยูนลงน้ำ

 

ส่วนการสำรวจเครื่องมือทำประมงของชุมชน เพราะต้องการรู้ว่าในชุมชนมีเครื่องมือประมงอะไรบ้างที่จะทำอันตรายต่อพะยูน เต่า หรือโลมา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชนแม้จะมีอุปสรรคในช่วงแรก เนื่องจากชาวบ้านกลัวจะไปกระทบวิถีชีวิตการทำมากิน แต่เมื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้วว่ายังหากินได้ตามปกติ เป็นการขอความร่วมมือเรื่องของเครื่องมือทำประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย และต้องไม่ไปทำอันตรายกับพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก เพราะหากพบเห็นก็จะกู้เก็บขึ้นมา 

ชาวบ้านบางส่วนยังมีความเชื่อผิดๆ ในเรื่องของกระดูกพะยูน จึงต้องสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญ ถ้าเราอยากให้พะยูนอยู่คู่กับเกาะลิบง ทุกคนในชุมชนก็จะต้องรักพะยูนด้วย เพราะเป้าหมายคือ ให้พะยูนอยู่ร่วมกับคนได้ 

สำหรับการทำงานวิจัยนี้ ได้นำกระบวนการวิจัยท้องถิ่นเข้ามาขับเคลื่อนในชุมชน สำรวจเก็บข้อมูลชุมชนแล้ว นำมาสู่การจัดทำเวทีประชาคมเพื่อร่วมกันกำหนดกติกาชุมชน ในช่วงเดือนต.ค.นี้ เตรียมเดินสายออกไปประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนพื้นที่อื่นๆ รอบเกาะให้รับทราบว่าปัจจุบันเกาะลิบงมีกติกาชุมชนเกี่ยวกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่รอบเกาะลิบง หากมีการทำผิดกฎกติกาชุมชน จะไม่ไปปะทะ แต่จะใช้วิธีการขอความร่วมมือ หากไม่ฟังก็จะใช้เรื่องของกฎหมายต่อไป

 

สำหรับพะยูนเริ่มกลับมาวิกฤตอีกครั้ง หลังพบพะยูนตายเพิ่มขึ้น โดยประมาณการว่าทั้งประเทศไทยมีพะยูนเหลืออยู่ไม่ถึง 200 ตัว และยังคงมีอัตราการตายเฉลี่ยต่อปีสูง ทั้งนี้จากข้อมูลย้อนหลังพบว่ามีพะยูนตายไม่ต่ำกว่า 12 ตัวต่อปีหรือเฉลี่ยนเดือนละหนึ่งตัว แต่ในช่วงเวลาเพียง 9 เดือนตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา มีพะยูนตายไปแล้วถึง 21 ตัว

รวมถึงการตายของพะยูนน้อยมาเรียม และยามีล จากนั้นถัดมาไม่กี่วันมายังคงมีข่าวการตายของพะยูนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีข่าวการพบซากพะยูนเกยตื้นบริเวณชายหาดที่เกาะลิบง โดยกระดูกและกล้ามเนื้อบางส่วนของพะยูนสูญหายไป สร้างความเป็นห่วงกังวลให้กับชุมชนเกาะลิบง อย่างมาก เนื่องจากเกาะลิบงถือเป็นถิ่นที่อยู่ของพะยูนที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ดังคำกล่าวของชาวบ้านที่บอกว่า“ ถ้ามาลิบงไม่เจอพะยูน ถือว่ามาไม่ถึงลิบง”

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤต! พะยูนตาย 17 ชีวิต สะท้อนปัญหาทะเลไทย

   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง