จ่อประกาศ 12 พื้นที่คุ้มครองบ้าน "พะยูน" ฝูงสุดท้าย

สิ่งแวดล้อม
2 ต.ค. 62
15:32
1,388
Logo Thai PBS
จ่อประกาศ 12 พื้นที่คุ้มครองบ้าน "พะยูน" ฝูงสุดท้าย
เปิดแผนอนุรักษ์พะยูนฝูงสุดท้ายของไทย ตั้งเป้าเพิ่มอีกร้อยละ 10 จากเดิม 250 ตัวเป็น 280 ตัวภายใน 3 ปี เดินหน้าประกาศพื้นที่คุ้มครอง 12 แห่งบ้านของพะยูน -แหล่งหญ้าทะเล ดึงชุมชนร่วมอนุรักษ์ พร้อมสั่งสำรวจปัญหาไมโครพลาสติกในแหล่งอาหารของพะยูน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เกี่ยวกับร่างแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-65 ) หลังพบว่าช่วงปีนี้สถิติพะยูนเกยตื้นตายในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค.นี้มากถึง 21 ตัว โดยเฉพาะลูกพะยูนมาเรียม ที่ได้นำมาเลี้ยงดูนานกว่า 3 เดือนในพื้นที่อ่าวดุหยง เขาบาตู หมู่เกาะลิบง จ.ตรัง แต่สุดท้ายก็ตายจากการกินขยะพลาสติก เช่นเดียวกับยามีล ที่ตายลงเช่นกัน

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสัตว์ทะเลหายากอย่างมีประสิทธิภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงได้จัดทำร่างแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติภายใต้แผนแม่บทมาเรียมโปรเจค โดยมีเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูนจาก 250 ตัว เป็น 280 ตัวในเวลา 3 ปี ประกอบด้วยโครงการต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ ลดภัยคุกคาม ศึกษาวิจัยพะยูนและแหล่งอาศัย การช่วยชีวิต และการสร้างจิตสำนึกประชาชนอย่างมีส่วนร่วม

พะยูนร้อยละ 80-90 ตายจากเครื่องมือประมง ซึ่งปีนี้มีพะยูนตายเยอะแบบก้าวกระโดดจากปีละ 10 กว่าตัวเป็น 21 ตัว ซึ่งแม้ว่าพะยูนจะเพิ่มมากขึ้นจากปี 2557 เคยมีพะยูนกว่า 100 เพิ่มเป็นกว่า 200 ตัว แต่อัตราเกิดและตายก็ยังไม่สมดุล

 

ประกาศพื้นที่คุ้มครองหญ้าทะเล-พะยูน 12 แห่ง

ปลัดทส.กล่าวอีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ กองทัพเรือ ทช.และชุมชนวางมาตรการป้องกันผลกระทบจากเครื่องมือประมงกับสัตว์ทะเลหายาก ประมงขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะพะยูนอยู่น้ำตื้น แต่เรือเล็กที่อาจจะไปชน และไปติดเครื่องประมงพื้นบ้านตาย

แนวทางแก้ปัญหาตอนนี้คือแผนจะประกาศพื้นที่คุ้มครองแหล่งหญ้าทะเลและอนุรักษ์บ้านของพะยูนเพิ่มอีก 12 แห่ง ได้แก่ เกาะพระทอง จ.พังงา อ่าวพังงา เกาะศรีบอยา จ.กระบี่ เกาะลิบง เกาะมุกต์ จ.ตรัง เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จ.สตูล เกาะกูด เกาะหมาก เกาะกระดาน จ.ตราด อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ปากน้ำประแส จ.ระยอง อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี อ่าวสัตหีบ จ.ระยอง อ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี ซึ่งบางแห่งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์อยู่แล้วก็ไม่ยาก ส่วนบางแห่งยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม

ไม่อยากให้ชุมชนโทษว่าเป็นผู้ร้าย แต่ยอมรับว่าไม่สามารถให้เลิกเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายกับพะยูน และสัตว์ทะเลหายากได้ทันที ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ตั้งเป้าลดพะยูนตายจากเครื่องมือประมงร้อยละ 50

ปัญหาการเกยตื้นของพะยูนอยู่ที่ จ.กระบี่ และตรัง ถ้ามองในภาพรวมชุมชนไหนที่คนเยอะโอกาสสัตว์ทะเลหายากตายอาจจะมากกว่าที่อื่น เครื่องมือประมง เป็นเหตุสุดวิสัย แต่จะทำอย่างไรให้ชุมชนอนุรักษ์พะยูน  

 

นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายทรัพยากรทางทะเลแล้ว ครอบคลุมทุกมิติ แต่ยังไม่มีรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งยังมีประเด็นเรื่องการของเพิ่มทีมสัตวแพทย์ และศูนย์อนุบาลสัตว์ทะเลหายาก ที่ตอนนี้มีเพียงแห่งเดียวที่จ.ภูเก็ต มองว่าจำเป็นต้องเพิ่มในทะเลอ่าวไทยครอบคลุมพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี รวมทั้ง จ.ตรัง สงขลา รวมทั้งเพิ่มรถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ที่มีเพียง 2 คัน เพราะสิ่งสำคัญการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากต้องส่งต่อให้ถึงมือสัตวแพทย์โดยเร็ว

สุ่มตรวจหาไมโครพลาสติกตกค้างแปลงหญ้าทะเล 

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มาเรียมตายจากขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ ขณะนี้มอบหมายให้ศูนย์ทางทะเลทุกพื้นที่สำรวจขยะตกค้างในแปลงหญ้าทะเลทุกพื้นทื่ เพื่อศึกษาปัญหาไมโครพลาสติก โดยให้นักวิจัยลงเก็บสำรวจแหล่งหญ้าทะเล โดยนำร่องที่จ.ตรัง สตูล กระบี่ เพื่อสำรวจไมโครพลาสติกตกค้าง เพราะพลาสติกที่เจอในลำไส้มาเรียม พบว่าย่อยสลายมาหลายปีแล้ว กำลังให้ทำในส่วนนี้อยู่ว่ามีสัดส่วนพลาสติกเกาะติดหรือไม่ เป็นงานวิจัยใหม่

 

วอนจัดโซนนิ่งพื้นที่หญ้าทะเลบ้านพะยูน


ด้านนายสุวิท สารสิทธ์ กลุ่มพิทักษ์ดุหยง หมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า รู้ว่าทาง ทช.มีการทำร่างแผนอนุรักษ์พะยูนออกมาแล้ว แต่ชุมชนยังไม่เห็นรายละเอียดของแผนนี้ว่ามีการออกแบบที่ตอบโจทย์คนในชุมชนหรือไม่ แต่หากได้เห็นก็จะมาดูรายละเอียดทั้งหมดว่าต้องปรับเปลี่ยนหรือมีอะไรเพิ่มเติม

ตอนนี้มีการทำแผนเกาะลิบงโมเดล ที่ชาวบ้านร่วมกันระดมความเห็นทำออกมา อย่างน้อยควรต้องนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพะยูนแห่งชาติ เพราะด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรการท่องเที่ยว แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กที่สะท้อนจากชุมชนเข้าไปสู่แผนระดับชาติแต่มองว่าเป็นสิ่งจำเป็น

 

ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ดุหยง บอกว่า หากภาครัฐประชุมเฉพาะส่วนราชการ และครอบคลุมเพียงเฉพาะส่วนหัว  โดยที่ชุมชนยังไม่รับรู้อะไร คิดว่างานทำยาก เนื่องจากควรมีทุกภาคส่วนเข้ามาจับเข่าคุยกันก่อนที่ตกผลึกเป็นแผนออกมา พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญออกมาแต่ละด้าน

ข้อเสนอลำดับแรกขอให้มีการวางโซนนิ่งติดตั้งทุ่นพื้นที่ไข่แดงบริเวณอ่าวดุหยง เพื่ออนุรักษ์หญ้าทะเล เราไม่ห้ามชาวประมงพื้นบ้าน แต่อย่างน้อยให้คนนอกถิ่นเข้ามาทำประมง รับรู้ว่าบริเวณนี้เป็นแนวหญ้าทะเล ตรงนี้มีทุ่นผูกเรือ ไม่ใช่แบบก่อนที่พอเจอพะยูนแล้วเอาเรือไปวิ่งไล่พะยูน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ตะลึง! ขยะเกลื่อนแปลงหญ้าทะเลจุด "มาเรียม" ตาย

 

นายสุวิท กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำจริงจังเพราะกำลังจะเริ่มเข้าฤดูกาลท่องเที่ยว อยากให้จังหวัดและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกาะลิบงต้องจัดการให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังเร่งแก้ปัญหาขยะตกค้างในแปลงหญ้าทะเล ที่ผ่านมาเราขยะเรารณรงค์ดำน้ำเก็บขยะในทะเล แต่พอมาเรียมตายจากขยะ ทำให้พบว่าปัญหาขนยะไม่ได้มีอยู่แค่บนบก

ขยะมี 3 จุด จากบนบก แนวหญ้าทะเล และที่น้ำลึก ที่มาเรียมกิเข้าไปเพราะเขาไม่รู้ ดังนั้นแผนเร่งด่วนตอนนี้คือต้องรณรงค์เหก็ยในแนวหญ้าช่วงน้ำลด เพราะยังมีพะยูนอีกกว่า 200 ตัวที่อาศัยในเกาะลิบง 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่หยุด! "พะยูน" ถูกอวนรัดตายเพิ่มตัวที่ 21

"Trash Hero" ขอร่วมกัน Trash Zero หยุดฆ่าสัตว์ด้วยขยะ

จุดชมพะยูนเขาบาตูพัง - เสี่ยงความปลอดภัย

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง