ชาวใต้ 200 คนร้องศาลรัฐธรรมนูญ "ปมพิพาทที่ดิน"

การเมือง
2 ต.ค. 62
12:43
296
Logo Thai PBS
ชาวใต้ 200 คนร้องศาลรัฐธรรมนูญ "ปมพิพาทที่ดิน"
อสท. นำชาวบ้านร้องศาลรัฐธรรมนูญ หลังไม่ได้รับสิทธิที่ดินทำกินในพื้นที่หมดสัมปทาน เคยยื่นผู้ตรวจฯแต่ไม่รับ จึงขอใช้สิทธิฯตามกฎหมาย อ้างนายกรัฐมนตรีให้กรมป่าไม้จัดสรรที่ดินให้กับประชาชนแล้วไม่ดำเนินการ

วันนี้ ( 2 ต.ค.2562) นายสุขสันต์ บริเพ็ชร ประธานองค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย (อสท.) นำชาวบ้านผู้เสียประโยชน์จากที่ดินทำกิน กรณีกรมป่าไม้ละเลยไม่จัดสรรที่ดินในเขตป่าสงวนจังหวัดกระบี่ ซึ่งหมดสัมปทานจำนวน 70,000 ไร่ ให้กับราษฎรจาก 4 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย จ.สุราษฎร์ธานี จ.พัทลุง จ.กระบี่ และ จ.นครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งเดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญโดยรถบัส 7คัน เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีที่กรมป่าไม้ไม่ได้มอบสิทธิทำกินในที่ดินที่หมดสัมปทานให้กับประชาชน ตามโครงการถือครองที่ดินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการดำรงชีพของราษฎรยุคปฏิรูปประเทศจำนวน 20,000 ไร่

ที่ผ่านมาได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันกรมป่าไม้ไม่ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎร ตามโครงการถือครองที่ดินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฯ อสท.จึงเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ผู้ตรวจการฯไม่รับพิจารณาเนื่องจากมองว่า อสท.ไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ในวันนี้จึงต้องนำตัวแทนชาวบ้านที่เป็นผู้เสียหายที่แท้จริงเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นายสุขสันต์ ยังกล่าวด้วยว่า เดิมทีบริษัท ยูนิวานิช จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ขอสัมปทานเช่าใช้ที่ดินจากกรมป่าไม้ เพื่อทำสวนปาล์ม และหมดสัญญาสัมปทานในปี 2556 ซึ่งกลุ่มชาวบ้านมีความเห็นตรงกันว่าควรจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้กับประชาชนผู้ยากไร้ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเรามาขอใช้สิทธิตามกฎหมาย และได้ร้องในเรื่องนี้กับผู้ตรวจการฯแล้ว แต่ผู้ตรวจการฯไม่รับคำร้อง และมีหนังสือแจ้งระบุว่าไม่รับคำร้อง จึงต้องมายื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่ากรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่แห่งรัฐ

สำหรับเหตุพิพาทที่ดินดังกล่าวสืบเนื่องมาจากในปี 2530 รัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมัน ใน จ.กระบี่ จำนวน 14 แปลง เนื้อที่ประมาณ 70,000 ไร่ ปัจจุบันสัมปทานที่ดินได้ทยอยหมดอายุลง รัฐบาลในปี 2546 มีนโยบายจะนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้กับประชาชนที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่บุกรุกเข้าไปยึดครองสวนปาล์มที่หมดอายุสัมปทานหลายแปลง จนกลายเป็นคดีพิพาทจนถึงปัจจุบัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง