ปัญหาเพียบ! โซเชียลสะท้อน "ชิมช้อปใช้" เร่งแก้ก่อนลุยเฟส 2

เศรษฐกิจ
4 ต.ค. 62
17:38
13,344
Logo Thai PBS
ปัญหาเพียบ! โซเชียลสะท้อน "ชิมช้อปใช้" เร่งแก้ก่อนลุยเฟส 2
โซเชียลสะท้อนปัญหา "ชิมช้อปใช้" เฟสแรก ทั้งระบบใช้ยาก ยืนยันตัวตนไม่ผ่าน จุดชำระไม่พอ ขณะที่รัฐบาลรอประเมินผลภายในเดือน ต.ค.นี้ ก่อนเล็งเดินหน้า "เฟส 2"

ถือเป็นมาตรการที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากสำหรับโครงการ “ชิมช้อปใช้” เห็นได้จากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีคนจองสิทธิ์เต็มโควต้า 1 ล้านคนทุกวัน แจกเงิน 1,000 บาท ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ มีโควตาให้ลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน รวม 10 ล้าน ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. - 15 พ.ย.62 จนถึงวันนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนยังเกิดคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ทั้งผู้ที่ลงทะเบียนแล้วไม่ผ่านการตรวจสอบ ทั้งจากการกรอกข้อมูลผิด กรอกรหัสผ่านโอทีพีไม่ทันเวลากำหนด 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวมปัญหา “ชิมช้อปใช้” เฟสแรกที่มีผู้สะท้อนความเห็นตรงกันว่า ต้องแก้ก่อนเคาะเดินหน้าเฟส 2 เพราะนับจากวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียน 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็พบปัญหาเมื่อคนจำนวนมากต่างรีบคลิกเข้าไปในเว็บไซต์เดียวกัน จึงเป็นไปได้ที่เว็บไซต์จะประเมินผลช้า เพราะไม่อาจรองรับปริมาณคนมหาศาลภายในนาทีเดียว 

รีบกดใช้สิทธิ์ เลือกผิดจังหวัด

ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าไปลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ซึ่งผู้มีสิทธิ์จะได้รับ SMS หรืออีเมลแจ้งผลการลงทะเบียนรับสิทธิภายใน 3 วันทำการ จากนั้นจึงจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิ์ผ่าน G-Wallet

ปัญหาเรื่องของการกรอกข้อมูลผิด มีทั้งลงจังหวัดที่จะไปท่องเที่ยวตรงกับในทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน หรือกรอกข้อมูลสำคัญผิด เพราะถ้าพลาดแล้วกด Submit จะไม่สามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ ผู้ลงทะเบียนต้องลงทะเบียนใหม่ทางเว็บไซต์อย่างเดียว

ขณะที่มีอีกหลายคนเช่นกันที่อ่านข้อมูลไม่ละเอียด เข้าใจว่ากดลงทะเบียนแล้วจะใช้สิทธิ์ตอนไหนก็ได้ จังหวัดไหนก็ได้ แต่กลับต้องใช้สิทธิ์ใน 14 วันหลังจากทำการยืนยันสิทธิ์ หลายคนต้องพลาดโอกาส เนื่องจากไม่ได้ว่างแผนไว้ล่วงหน้า 

หน้าไม่ตรงปก ยืนยันตัวตนไม่ผ่าน 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาผู้รับสิทธิจำนวนมาก ไม่สามารถยืนยันตัวตนกับแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ติดปัญหาเนื่องจากใบหน้าที่แสดงนั้นไม่ตรงหรือใกล้เคียงกับภาพในบัตรประชาชน ระหว่างสแกนใบหน้า มีแสงสว่างมากเกินไป โดยคนที่สแกนใบหน้าไม่ผ่าน สามารถไปยืนยันตัวตนได้ที่สาขาธนาคารกรุงไทย และบางสาขาที่มีคนจำนวนมาก ทำให้ต้องรอคิวนาน เช่น ชาวบ้านที่ จ.บุรีรัมย์ ต้องใช้รองเท้ามาต่อรอคิวที่หน้าธนาคาร โดยผู้ที่จะยืนยันตัวตนผ่านระบบของธนาคารจะต้องเตรียมหลักฐานเป็นสำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ พร้อมบัตรตัวจริง

ระบบยาก ไม่เอื้อผู้สูงวัย

การใช้งานที่ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับทุกกลุ่มของประชาชน เช่น ผู้สูงอายุ คนที่ไม่มีโทรศัพท์มือแบบสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ กลายเป็นช่องทางให้คนบางกลุ่มเข้ามาหาผลประโยชน์ ตัวอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ประกาศรับจ้างลงทะเบียนรับสิทธิเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่โพสต์ผ่านสื่อสังคมโลกออนไลน์ โดยคิดค่าจ้างตั้งแต่ 20-100 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าขอคนที่พร้อมส่งรหัสผ่านได้ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืน ถึงเวลา 01.00 น. ไม่ต้องถ่ายรูปบัตรมาให้ เพียงแค่พิมพ์ส่งมาเท่านั้น และยืนยันว่าไม่ได้เอาเลขรหัสบัตรไปทำเรื่องอื่น

จากรณีดังกล่าวหลายฝ่ายต่างแสดงความเป็นห่วง พร้อมเตือนว่า อย่าใช้บริการลักษณะนี้เด็ดขาด เพราะต้องใช้ข้อมูลสำคัญ 3 อย่างทั้ง ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งหากตกไปอยู่ในมือกลุ่มมิจฉาชีพ อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกนำข้อมูลไปทำเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น กู้ซื้อรถ หรือผ่อนสินค้า

จุดชำระเงินไม่พอ คนทิ้งรถเข็นเกลื่อนห้าง

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องการต่อคิวที่ยาวนานของผู้ใช้สิทธิ์ในห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการ เนื่องจากมีจุดชำระเงินไม่เพียงพอ จนต้องทิ้งรถเข็นให้พนักงานเก็บจำนวนมาก ขณะที่ธนาคารกรุงไทยได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ระบบไม่ได้ล่ม แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการของห้างเอง

ร้านขอยกเลิกเข้าร่วม ไม่มั่นใจระบบจ่ายเงินคืน

ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ บางแห่งยอดเงินที่ผู้ลงทะเบียนนำมาใช้สิทธิ์ไม่เข้าเป็นยอดจำหน่าย และไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินได้ จึงทำให้มีร้านค้าที่เข้าร่วมบางรายขอยกเลิก เข้าร่วมเพราะไม่มั่นใจในระบบการจ่ายเงินคืนร้าน เช่น กรณีร้านอาหารแห่งหนึ่งโพสต์ข้อความระบุว่า มาใช้จริง 10 บิล มียอดเงินเข้าแอปร้านค้าจริงแค่ 7 บิล ส่วน 3 บิลที่เหลือไม่มียอดเงินเข้า และขอลูกค้าเห็นใจ ขออนุญาตยกเลิกเข้าร่วมโครงการจนกว่าจะมั่นใจในระบบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คิวล้น! ใช้รองเท้าต่อแถว สแกนใบหน้าไม่ผ่าน "ชิมช้อปใช้"

ขีดเส้นคลัง “ชิมช้อปใช้ เฟส2” ชัดเจนเดือนนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง