ลมหายใจ “มโนราห์” เมืองตรัง

ไลฟ์สไตล์
6 ต.ค. 62
14:41
3,925
Logo Thai PBS
ลมหายใจ “มโนราห์” เมืองตรัง
นักวิจัยท้องถิ่น จ.ตรัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พลิกฟื้นมโนราห์ อ.นาโยง จ.ตรัง โดยรวมเยาวชนลูกหลานคณะมโนราห์ สานต่อลมหายใจศิลปะโบราณนับร้อยปีไม่ให้สูญหาย

เสียงเพลงออกพราน ขับกล่อมผสานกันลงตัว ตามจังหวะของปี่นอก ตัดกับเสียง ทับ กลอง โหม่ง บอกว่าถึงเวลาโชว์รำมโนราห์ ศิลปะการแสดงโบราณชาวใต้

เด็กน้อย ใส่โจงกระเบนสีแดง สวมหน้ากากหน้าพราน ชี้นิ้วย่างกราย ตามจังหวะดนตรีที่เร้าใจ แม้จะดูเก้ๆ กังๆ ตามประสาเด็ก แต่ก็เรียกรอยยิ้มกับแขกที่มารอชม

ส่วนหลังฉากแสดง นักแสดง 6 ชีวิต หลังจากผ่านการไหว้ครู ต่างช่วยกันแต่งหน้า ทำผมสวมชุดมโนราห์ที่ทำจากลูกปัด สีสันสดใส ตัดกับหน้าตาที่แต่งเข้ม พร้อมโชว์การแสดงชุดคล้องหงส์

 

หลงรักมโนราห์ ตั้งแต่เด็ก ชื่นชอบการแต่งตัว ท่ารำ เอกลักษณ์ของชุด เครื่องประดับลูกปัด งานฝีมือเท่านั้นกว่าจะร้อยลูกปัดแต่ละเม็ด ต้องใช้ความปราณีตมาก

นายศุภวัฒน์ สิริรักษ์ เยาวชนบ้านนาโยง จ.ตรังลูกหลานเชื้อสายครูมโนราห์ ถ่ายทอดเรื่องราว ความประทับใจ หลังเขาได้รับการฝึกฝนมานานกว่า 6 ปี รำโนรามา 6 ปีตั้งแต่ ม.1 จนจบ ม.6 ส่วนหนึ่งเพราะความชอบส่วนตัว และที่บ้านมีเชื้อสายมโนราห์ ไปดูตั้งแต่เด็กมีความชอบ อยากใส่ชุด พอได้ใส่ก็เป็นความชอบส่วนตัว จึงได้ฝึกจนได้แสดงมาจนถึงตอนนี้จนได้ออกแสดงรำมโนราห์ในระดับจังหวัดมาหลายเวที

 

หากถามถึงเสน่ห์ที่แตกต่างของการรำมโนราห์ ศุภวัฒน์ บอกว่ามโนราห์เมืองตรัง เวลาตีท่า ถ้อยคำ จะมีลูกไม้ 3 เป็นท่าเอกลักษณ์แล้วแต่คณะนักแสดงที่จะมีท่าเอกลักษณ์ของตัวเอง เขาบอกว่า รำมโนราห์แตกต่างจากนาฎศิลป์แขนงอื่นๆ จะมีลูกปัดที่ต้องร้อยด้วยมือเท่านั้น กว่าจะเป็นชุดหนึ่งชุดต้องทำจากมือที่ปราณีต

ที่บ้านมีหิ้งบูชามโนราห์ เมื่อก่อนที่สืบตายายโนรา เป็นคณะมโนราห์ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไม่ได้สืบทอด กระทั่งสุดท้ายก็มาเป็นผม เรียกว่าถ้ามีเชื้อสายต้องสืบทอด ถ้าไม่รับเหมือนให้สิ่งที่ดีงามเราไม่รับ ก็ไม่ดี แต่ส่วนตัวก็สืบทอดและยังต้องการสืบสานมโนราห์ไม่ให้สูญหาย  

ผมดิ้นรน รำมโนราห์ ที่โน่นที่นี่ เพราะต่อไปอยากให้ลูกหลานสืบทอดตรงนี้ ที่เราสืบทอดมานับ 100 ปี ตั้งแต่บรรพบุรุษ อยากให้วัฒนธรรมที่ดีงาม ไม่ใช่แค่โนราห์แต่ ทุกวัฒนธรรมของทุกภาค ไม่ให้สูญหาย

มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนรา

ตรัง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ที่มีคณะมโนราห์มาก และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี จนมีวลีที่คนต่างจังหวัดมักพูดถึงชาวตรังว่า "มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนรา” บรมครูโนราตรังมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักหลายท่าน อาทิ ขุนศรัทธาใจภักดิ์ (โนราศรีเงิน) โนราเติม อ๋องเซ่ง และโนราแป้นเครื่องงาม

“มโนราห์หรือโนรา” เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองเฉพาะของภาคใต้ เป็นศาสตร์การแสดงชั้นสูง และมีบทบาทต่อวิถีคนใต้เป็นอย่างมาก คนที่รำโนราเป็นต้องเก่ง มีความสามารถรอบด้าน และไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโนราได้ เพราะโนรา คือคนที่ถูกเลือกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ ครูหมอโนรา สมัยก่อนโนราเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักด์ศรี ไปที่ไหนมีแต่คนต้อนรับเสมือนหนึ่งเป็นขุนนาง ข้าหลวง เนื่องจากผู้ที่เป็นโนรา นอกจากจะสร้างรายได้แล้วยังได้รับการเชิดหน้าชูตามีผู้คนนับถืออย่างกว้างขวาง

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2547 ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดตรัง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ได้สนับสนุน โครงการวิจัยแนวทางการสืบสานศิลปะพื้นบ้านมโนราห์โคกสะบ้า  ซึ่งเป็นตำบลที่มีคณะมโนราห์มากที่สุดใน อ.นาโยง คือ มีมากถึง 9 คณะ

ผลการวิจัยในครั้งนั้น ทำให้โนราโคกสะบ้าได้รับความสนใจจากคนในชุมชนและบุคคลภายนอกอย่างกว้างขวาง เป็นยุคสมัยที่ผู้คนกลับมานิยมโนรากันอีกครั้ง ทำให้มีคณะมโนราห์ในตำบลเพิ่มมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมโนราห์ต่างคณะ เกิดการยอมรับซึ่งกัน

 

 

จากที่ในอดีตโนรา มักประชันโรงกันอยู่เสมอ หลายคณะจึงเป็นคู่แข่งทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงบางอย่างต้องใช้พิธีกรรมและอย่างอื่นควบคู่ จึงไม่ต้องการเปิดเผย แต่เมื่อได้เข้าสู่กระบวนการวิจัย ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ยอมรับความแตกต่าง และนับถือซึ่งกัน ในฐานะลูกหลานครูหมอโนราสายเดียวกัน และผลักดันสู่หลักสูตรของโรงเรียน เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้บ้านมโนราห์โคกสะบ้า เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนและบุคคลภายนอก ทั้งหมดถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย ทำให้โครงการฯได้รับคัดเลือกเป็นโครงการวิจัยเด่นของ สกว.ในปี 2549

 

  

ฝึกเยาวชน ตั้งแต่อนุบาล สานต่อศิลปะ

ครูราตรี หัสชัย นักวิจัยบ้านมโนราห์ อ.นาโยง จ.ตรัง บอกว่า รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับคณะมโนราห์ใน อ.นาโยง จ.ตรัง โดยเก็บบันทึกข้อมูลคณะมโนราห์ทั้งหมดในอำเภอนาโยง พบว่ามีจำนวน 21 คณะ กระจายอยู่ทุกตำบล แบ่งเป็นคณะมโนราห์โบราณ 20 คณะ และคณะมโนราห์แบบประยุกต์ หรือการแสดงมโนราห์ควบคู่กับวงดนตรีลูกทุ่ง 1 คณะ การเก็บและบันทึกข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์ ดูการแสดงจริง และสัมภาษณ์นักแสดง ครูโนรา 

ครูราตรี บอกว่า นักศึกษา กศน.ที่ร่วมเป็นทีมวิจัยที่เข้ามาร่วมโครงการยังได้หัดรำมโนราห์ จนสามารถออกแสดงตามงานต่างๆได้ เป็นความสามารถพิเศษ สร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง ใช้เวลาว่างให้เกิดประ โยชน์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดศิลปะมโนราห์

นอกจากนี้ครูราตรี บอกอีกว่า บทแสดงเรากำหนดไม่ได้ว่าอันไหนจะดีสุด ในงานพิธีกรรมจะทำตามขนบ แต่อย่างรำโชว์ เราจะคัดนักแสดง เช่น การแสดงคล้องหงส์ ถ้าไปออกงาน รำ 12 ท่า และเล่นบทตามกลอน บทโบราณ เช่น ท่าปฐม และถ้าผู้แสดงเก่งขับกลอนสดได้ ก็จะเล่นกลอนสด และขับโต้กันระหว่างคน 2 คน

 

ครูราตรี บอกว่า เราหาความรู้มาแล้วถ้าเอาวางไว้ไม่ได้เกิดประโยชน์ และอยากมาถ่ายทอดให้เด็ก เช่น การร้อยลูกปัด และมาสอนเด็กในโรงเรียน สอนให้เขาสืบสาน แต่สมัยก่อนพาตาย คือตายไปกับตัว พอเราได้ศึกษามา จึงอยากให้ศิลปะโบราณนี้ยังอยู่ต่อไป

ข้อค้นพบสำคัญคือสำหรับคนนาโยงโนรา มิได้เป็นเพียงการแสดง หากแต่เป็นสัญลักษณ์ เป็นสื่อกลาง ระหว่าง ครูหมอโนรา กับเจ้าของบ้านหรือลูกหลานที่มีเชื้อสายโนรา ครูหมอโนราเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นที่พึ่ง เป็นศูนย์กลางในการรวมพลังของผู้คน ที่เกิดสำนึกร่วมของ ความเป็นพวกเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ความศรัทธา เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

ในครอบครัวต้องมีการสืบทอดศิลปะการรำมโนราห์มายังรุ่นรุ่นหลาน แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่เชื่อว่าโนรานาโยงจะยังคงความเข้มขลังไว้ ตามเอกลักษณ์โบราณ และดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างสง่างาม

สิ่งที่อยากเห็นคือ ไม่ต้องการให้ศิลปะมโนราห์สูญหาย ถ้าไม่มีคนมาสืบทอด ก็จะสูญหาย งานวิจัย เราก็จบตรงนี้ ตั้งธงไว้ว่าบ้านมโนหรา์ จะเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการแสดงมโนราห์ ต้องการให้เด็กที่ไม่มีงานทำ อยู่นอกโรงเรียนดึงเข้ามาอยู่ตรงนี้ ชุมชนมาขายของ ลูกหลานมาเล่นโนราห์ จะมีรายได้ ใครๆก็นำเงินมาที่ชุมชน

 

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง