ประเทศไทยปลอดภัยจริงหรือ?

การเมือง
6 ต.ค. 62
15:18
862
Logo Thai PBS
ประเทศไทยปลอดภัยจริงหรือ?
กว่า 3 เดือนที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกทำร้ายร่างกาย กับ 1 เดือนที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถูกขุดคุ้ยอดีตอย่างหนักทั้งวุฒิการศึกษาและคดีความ สองประเด็นนี้อาจถูกมองเป็นเรื่องการเมือง แต่ทฤษฎีอาชญาวิทยาสามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ในสภาพภาพภายนอกดูเหมือนปกติ แต่การถูกทำร้ายจนบาดเจ็บหนักเมื่อ 3 เดือนก่อน พรากโอกาสหลายอย่างไปจากเขา โดยเฉพาะทุนเรียนต่อต่างประเทศ

หนังสือทวงถามความคืบหน้าคดี ส่งถึงมือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร 

“ไม่ควรมีใครถูกทำร้ายเพราะความเห็นต่างกัน” คือประเด็นสำคัญในการแถลงข่าวรับหนังสือ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้ป่าวประกาศ “ล้มเขาได้ ก็ล้มรัฐบาลได้” เผชิญมรสุมการเมืองอย่างหนัก ตั้งแต่พายุฝน “โพดุล-คาจิกิ” ผ่านเข้ามาและผ่านออกไปแล้ว ก็ยังไม่สงบ

คดีความในอดีต, วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ กระทบความน่าเชื่อถือ และสถานภาพทางการเมือง ด่านต่อไปคือ คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวส เป็นประธาน คอการเมืองคงได้สนุกกับการเผชิญหน้าของ “สายบู๊” จากสองขั้ว แต่ต้องไม่ลืมถึงต้นตอปัญหาที่สำคัญกว่า เพราะอยากมีวิทยาฐานะสูงกว่าหรือเทียบเท่าคนใหญ่โตในสังคม ทำให้ขบวนการปลอมวุฒิการศึกษา ปรากฏและขยายตัวไปทั่วโลกรวมถึงไทย จากอดีตที่พบการรับจ้างใบทำปริญญาปลอม, ทำวิทยานิพนธ์, จนถึงตั้งมหาวิทยาลัยแจกปริญญากิตติมศักดิ์อย่างเกลื่อนกลาด จนถึงกรณีล่าสุด

“นักการเมืองเป็นผู้เสียหาย อยากให้ออกมาแสดงตัวและแจ้งความเอาผิดขบวนการนี้” ช่วงหนึ่งที่อดีต กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา เนื้อหาสื่อเจตนาดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าอีกด้านคล้ายเป็นแผนล่อเสือออกจากถ้ำมากกว่า

ที่สำคัญ ไม่มีใครหลงเชื่อ รวมถึงชายผู้อ้างตัวเป็น “เส้นเลือดใหญ่” และ “คนเลี้ยงลิง” เพราะหากผิดจริง มีผลต่ออนาคตการเมืองแน่นอน

ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าใครผิดใครถูก อย่างน้อยจุดหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับว่ามีจริง คือทั้งสองกรณีมีคนคิดร้าย หวังร้าย ทำร้าย และมีผู้ตกเป็นเหยื่อ

ทำไมจึงคิด ทำไมจึงตัดสินใจลงมือ และทำไมจึงทำสำเร็จ สามคำถามนี้อธิบายได้ด้วยทฤษฎีด้านอาชญาวิทยาอย่างน้อย 3 ทฤษฎี

“สามเหลี่ยมอาชญากรรม” ผู้ก่อเหตุ-โอกาสลงมือ-เหยื่อ เมื่อองค์ประกอบครบทั้งสาม ย่อมเกิดอาชญากรรมได้ง่าย

“หน้าต่างแตก” เปรียบอาคารบ้านเรือนที่กระจกหน้าต่างแตก เหมือนสังคมที่ไม่ปลอดภัย เมื่อป้องกันปราบปรามหละหลวม ย่อมเกิดอาชญากรรมได้ง่าย

“กลไกการควบคุม” สามารถยับยั้งใจที่จะไม่ทำผิดได้หรือไม่ และสังคมภายนอกควบคุมไม่ให้กระทำได้หรือไม่ เมื่อไม่ยั้งใจและไม่มีใครควบคุม ย่อมเกิดอาชญากรรมได้ง่าย

ภาพ : กองปราบปราม

ภาพ : กองปราบปราม

ภาพ : กองปราบปราม

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก : Broken Window Theory

ภาพจากเฟซบุ๊ก : Broken Window Theory

ภาพจากเฟซบุ๊ก : Broken Window Theory

ไม่ใช่แค่สองกรณีนี้ และไม่ใช่แค่กรณีการเมือง แต่น่าจะใช้อธิบายการก่อเหตุร้ายทุกรูปแบบในสังคม ตั้งแต่ปัญหาระดับส่วนรวมอย่างทุจริตคอร์รัปชั่น, แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือหลอกลวงฉ้อโกง

จนถึงขั้นปัจเจกอย่างลักวิ่งชิงปล้น ประทุษร้ายร่างกาย คุกคามทางเพศ ยืมเงินไม่คืน วุ่นวายชีวิตส่วนตัวผู้อื่น หรือทักทายล้อเลียนเรื่องอ้วนผอมขาวดำ

ที่ตัดสินใจลงมือ เพราะเห็นว่าได้ประโยชน์ คุ้มค่า สนองความสุขตัวเอง ไม่คิดถึงผู้อื่น คิดว่าไม่เป็นไร ไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือหลบเลี่ยงได้

Global Peace Index ดัชนีชี้วัดความสงบสุข ประเมินหลายปัจจัย เช่น อาชญากรรมภายในประเทศ เสถียรภาพการเมือง รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

ภาพ : http://visionofhumanity.org

ภาพ : http://visionofhumanity.org

ภาพ : http://visionofhumanity.org

 

ภาพ : http://visionofhumanity.org

ภาพ : http://visionofhumanity.org

ภาพ : http://visionofhumanity.org

 

ภาพ : http://visionofhumanity.org

ภาพ : http://visionofhumanity.org

ภาพ : http://visionofhumanity.org

ปี 2019 ประเทศไทยอยู่อันดับ 116 ร่วมกับบราซิล จากการสำรวจ 163 ประเทศทั่วโลก แน่นอนว่าไทยไม่ได้รั้งท้ายเมื่อเทียบกับในภูมิภาคเดียวกัน

แน่นอนว่ายังมีอีกหลายชาติที่อันดับต่ำกว่าไทย ซึ่งรวมถึงประเทศมหาอำนาจ ร่ำรวย หรือภาพลักษณ์ประชาธิปไตยโดดเด่นกว่า และเมื่อมองนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้อ 2 จาก 12 ข้อ ก็หวังสร้างความมั่นคง-ปลอดภัยให้ประเทศ

รัฐบาลอาจจะเขียนนโยบาย ตั้งเป้าหมายและใช้งบประมาณดำเนินการ แต่ผู้ประเมินผลสำเร็จ คือ ประชาชน เราๆ ท่านๆ ยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสงบ มั่นใจพอใจกับการทำงานของผู้รักษากฎหมาย หรือต้องระแวงระวังทุกจังหวะ ว่าอันตรายจะมาถึงตัวเมื่อไหร่ ทำอะไรจะถูกโกง ถูกทำร้าย ถูกหลอกเสียเงินทองจนหมดตัว

ผู้คนที่เข้ามาในชีวิต ส่งรอยยิ้มพูดจาแต่งกายดี จะเป็นมิตรแท้มิตรเทียมหรือมหาโจร หนังสือ รูปภาพ เอกสารทั้งใบเสร็จ สัญญาหรือใบปริญญา จะเป็นของจริง ปลอมทำเหมือน หรือปลอมทำไม่เหมือน 

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง