กอ.รมน.ยันจำเป็นแจ้งความ "ฝ่ายค้าน - นักวิชาการ" ไม่เสี่ยงผิดฐานละเว้นฯ

การเมือง
7 ต.ค. 62
13:30
3,065
Logo Thai PBS
กอ.รมน.ยันจำเป็นแจ้งความ "ฝ่ายค้าน - นักวิชาการ" ไม่เสี่ยงผิดฐานละเว้นฯ
พล.ต.ธนาธิป ย้ำว่า กอ.รมน.จำเป็นต้องแจ้งความตามมาตรา 116 กับแกนนำฝ่ายค้านและนักวิชาการ ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

วันนี้(7 ต.ค.2562) พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงถึงเหตุที่ต้องแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี 7 แกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการว่า เป็นความจำเป็นเพราะหากเพิกเฉยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้น ทั้งนี้ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ส่วนผลการตัดสินขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและตัดสินของศาลที่จะเป็นผู้ชี้ขาดจึงขอให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและเคารพคำตัดสินของศาล

พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่ทำไปตามกรอบอำนาจหน้าที่และกฎหมาย กอ.รมน.ในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน.และเชื่อว่า การที่ฝ่ายค้านแจ้งความกลับ กอ.รมน.ไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำงานของ กอ.รมน.ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่ใช่มีเรื่องนี้เรื่องเดียว และต้องทำงานในเรื่องต่างๆ ต่อไปโดยเฉพาะงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ส่วนกรณีฝ่ายค้านเรียกร้องให้ปฏิรูป กอ.รมน.นั้น พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า คงจะเป็นลักษณะการปรับโครงสร้าง กอ.รมน.มากกว่า ซึ่งขณะนี้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงปี 2551 และมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับมิติความมั่นคงที่เกิดขึ้น และความต้องการของประชาชนในทุกโอกาส ซึ่งการปรับโครงสร้างได้กระทำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559 - 2560 โดยการดำเนินการของ กอ.รมน.สอดคล้องกับปัญหาของชาติในทุกมิติ เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติดได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายจนทำให้ระดับความน่าเชื่อถือของไทยเพิ่มขึ้น การร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลายป่า ซึ่งภารกิจทั้งหมดมาจากการปรับโครงสร้างของ กอ.รมน.ให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน

โฆษก กอ.รมน.ยังชี้แจงถึงกระแสวิจารณ์ถ่ายโอนอำนาจจาก คสช.มาที่กอ.รมน.ว่า น่าจะเป็นลักษณะการเพิ่มบทบาทประสานงานขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ในทุกมิติมากกว่า ซึ่งปัจจุบัน กอ.รมน.ดูแลงานและเป็นแกนกลางประสานแก้ไขปัญหากรณีที่หน่วยงานอื่น ๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้ ทั้งนี้บทบาทการทำงาน ของ กอ.รมน สะท้อนผ่าน"โครงการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" กับ "โครงการพาคนกลับบ้าน"ซึ่ง 2 โครงการนี้สามารถสร้างและทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ เป็นมิตรกับทุกคนแม้มีความเห็นต่างและไม่ได้เห็นประชาชนเป็นศัตรูอย่างแน่นอน ซึ่งกรณีการแจ้งความนี้เป็นมิติของความมั่นคง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง