"วันครูแห่งชาติลาว" รู้จัก "ครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ"

ต่างประเทศ
7 ต.ค. 62
14:43
4,960
Logo Thai PBS
"วันครูแห่งชาติลาว" รู้จัก "ครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ"
7 ตุลาคม "วันครูแห่งชาติลาว" ไทยพีบีเอส พาไปรู้จักกับ "ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด" จากแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2019” ร่วมกับเพื่อนครูจาก 10 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต

สบายดี “ครู” หลวงพระบาง

"ไพสะนิด ปันยาสะหวัด" ครูวิชาภาษาลาวและวรรณคดี โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ แขวงหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกทางตอนเหนือประเทศลาว


ในวันที่พบกัน ครูไพสะนิด ยังคงดำรงวิถียามเช้าด้วยการตักบาตรพร้อมภรรยาและเพื่อนบ้าน ที่ถือเสื่อมาปูนั่งรอพระสงฆ์ที่หน้าบ้านตั้งแต่รุ่งสาง ซึ่งเป็นชีวิตปกติของชาวบ้านในหมู่บ้านนาหลวง ที่อยู่ไม่ไกลจากเขตท่องเที่ยวของหลวงพระบาง

เราใช้เวลาไม่นานในการทำความรู้จักกัน ก่อนครูจะชวนเข้ามานั่งคุยถึงเส้นทางชีวิตการเป็นครู

 


เสียงระนาดดังขึ้น ดึงให้เรารีบปรี่เข้าไปในบ้าน ภาพที่เห็น คือ ครูไพสะนิดกำลังบรรเลงระนาดต้อนรับด้วยบทเพลงดวงจำปา สื่อกลิ่นอายว่าเรามาถึงประเทศลาวแล้ว ครูบอกว่าดนตรีคือกิจกรรมยามว่างที่เขาใช้สร้างความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนบ้าน แต่วันนี้จะพาออกไปดูกิจกรรมหลักในชีวิตที่โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่


ภาษาและวรรณคดี : เด็กต้องสนุกกับการเรียน

เด็กน้อยลาวส่วนใหญ่เป็นคนขี้อาย ข้าพเจ้าได้เป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยฝึกสอนให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออก

ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ มีนักเรียนกว่า 3,200 คน มีครูราว ๆ 180 คน ครู 1 คน ต้องสอนเด็กปีละมากกว่า 30 ห้องเรียน และแต่ละห้องเรียน ก็มีนักเรียนร่วม 50 คน เพื่อไม่ทิ้งเด็กคนไหนให้ตกหล่น ครูไพสะนิดจะใช้วิธีทำความรู้จักลูกศิษย์ด้วยการจำชื่อ เพื่อให้พวกเขารู้สึกไว้ใจและอยากเข้าหา ซึ่งปีนี้ ครูสอนวิชาภาษาลาวและวรรณคดี นักเรียนชั้น ม.7

การจะเข้าสู่นักเรียนได้ดีที่สุดเราต้องจำจุดพิเศษนักเรียน ถึงจะเห็นว่าคนนี้เรียนไวคนนี้เรียนช้า แล้วจะทำให้คนที่เรียนช้าเรียนทันเพื่อนได้แบบไหนก็ต้องติดตามพวกเขา นักเรียนจะสนใจเราก็ต้องทำห้องเรียนให้มีชีวิตชีวา ให้บรรยากาศไม่เคร่งเครียด ให้นักเรียนเข้าถึงเราได้

ออกแบบห้องเรียนให้สนุกในแบบครูไพสะนิด คือ ชวนนักเรียนมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่การใช้เวลา 2-3 นาทีแรกที่เดินเข้าห้องพานักเรียนร้องเพลง ทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม ช่วงแรกที่ยังไม่คุ้นเคยกัน ครูจะเรียกชื่อนักเรียนทีละคนให้ตอบคำถาม เพื่อเติมความกล้าให้นักเรียนรู้จักเตรียมตัวให้ดียิ่งขึ้น หากตอบคำถามได้ไม่ดีในครั้งนี้

 


ครูไพสะนิด ใช้ความเป็นมรดกโลกของหลวงพระบางเป็นสื่อการสอนที่มีชีวิต ทุก ๆ ภาคเรียน เขาจะพาเด็ก ๆ ออกไปเรียนในสถานที่จริงเพื่อสอนประวัติศาสตร์ วันนี้เขาพานักเรียนชาติพันธุ์จากพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเพิ่งเข้ามาอยู่ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ ไปที่วัดเชียงทอง วัดโบราณคู่บ้านคู่เมืองที่มีจิตรกรรมฝาผนังและอาคารสถาปัตยกรรมที่วิจิตรเพื่อสอนเกี่ยวกับวรรณคดีศาสนา

ถ้ามีโอกาสจะพานักเรียนไปสู่แหล่งอารยธรรม แหล่งประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อพวกเขาได้สัมผัสของจริงพวกเขาจะตื่นเต้นและสนใจเรียนรู้

ในช่วง 3 ปีมานี้ ครูไพสะนิดยังได้รับเชิญจากกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาประเทศลาว ให้เป็นวิทยากรพิเศษสอนภาษาและวัฒนธรรมลาว ที่รัฐบาลได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้าราชการหลักสูตร 6 เดือน ระหว่างแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว กับแขวงเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ที่ตอนนี้พวกเขากำลังจะจบหลักสูตร


ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2019

ย้อนกลับไปในช่วงที่ครูไพสะนิดยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมต้น เขาคือลูกศิษย์คนหนึ่งของครูโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ เขาเล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กยากจนที่ได้รับความรักและการเอาใจใส่จากครูในโรงเรียน ทำให้เขาขวนขวายหาโอกาสไปเรียนต่อที่วิทยาลัยสร้างครูในเมืองหลวงพระบาง ก่อนกลับมาบรรจุที่นี่ตามความฝัน

ข้าพเจ้ามีความรู้สึกปลื้มใจในความสนิทสนมและความฮักแพงของครู จึงมีความใฝ่ฝันมาตั้งแต่ตอน ม.1 เลยว่าถ้าเรียนจบก็อยากเป็นครู อยากทดแทนบุญคุณ จะได้ช่วยเหลือครูกลับคืนที่ได้ช่วยเหลือเรา ตอนนี้ยังมีเด็กหลายคนที่ด้อยโอกาส พวกเขาจะได้รับการอุปถัมภ์และการดูแลเอาใจใส่

ปีนี้ ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาประเทศลาว ให้เป็น “ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2019” ร่วมกับเพื่อนครูจาก 9 ประเทศในอาเซียน และติมอร์-เลสเต ที่จะเดินทางเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 15 ต.ค.2562 ในฐานะครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาในประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต

มาถึงตอนนั้นข้าพเจ้าก็รู้สึกดีใจตื่นเต้นหลาย ก็ได้เอาเรื่องนี้พูดให้ลูกเมียฟัง ถ้าได้รับรางวัลมาแล้วอย่างเป็นทางการ ก็จะได้เอาบทเรียนเอาความรู้นี้ไปเผยแพร่ไปเล่าเหตุการณ์ให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนและบรรดาคนที่สนใจ ถึงเหตุผลที่มาก่อนได้รับรางวัลนี้ว่าเราได้ทำอะไร เป็นแรงบันดาลใจให้ครูหลาย ๆ ท่านได้ทำบ้าง

ทีมข่าววาระทางสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลิกปมข่าว : ครูในพื้นที่กฎอัยการศึก มินดาเนา

พลิกปมข่าว : ติมอร์ - เลสเต 20 ปี ประชามติ - ยุทธศาสตร์ชาติ

พลิกปมข่าว : อินโดนีเซียหนุนอาชีวะ ปลดล็อกเศรษฐกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง