เกษียณอย่างไร "ไม่ป่วย-ไม่เป็นหนี้"

สังคม
8 ต.ค. 62
12:14
1,990
Logo Thai PBS
เกษียณอย่างไร "ไม่ป่วย-ไม่เป็นหนี้"
ความกังวลคนวัยเกษียณยุคนี้ไม่เฉพาะเรื่อง "สุขภาพ" แต่ยังมีเรื่อง "การเงิน" ที่ต้องวางแผนให้ดีตั้งแต่ต้น เพื่อให้ชีวิตในบั้นปลายไม่ต้องกังวลกับเรื่องการเงินและสุขภาพ และใช้ชีวิตแบบไม่เครียด ไม่ป่วย ไม่เป็นหนี้

อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นพุทธสุภาษิตที่ยังใช้ได้ดี แต่ยุคนี้โรคภัยไม่ได้มาในรูปแบบความเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น แต่ยังมีความเจ็บป่วยทางใจที่มาในรูปแบบอื่น เช่น การเป็นหนี้สิน ที่ทำให้ชีวิตวัยเกษียณอยู่อย่างไม่เป็นสุข

แต่ชีวิตของอดีตข้าราชการที่ ไทยพีบีเอสออนไลน์ เลือกมานำเสนอไม่เป็นเช่นนั้น

"เป็นคนอย่าใหญ่กว่าเสื้อ-เป็นเต่าอย่าให้หัวใหญ่กว่ากระดอง" เป็นวิธีคิดของ พ่อกอบ หรือ ประกอบ เจริญเวช เกษียณมาแล้ว 7 ปี เกษียณจากนักวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน

วิธีคิดที่มีนัยยะของความพอเหมาะ-พอดี เป็นพื้นฐานที่ พ่อกอบ ใช้ต่อยอดทั้งการวางแผนชีวิตและการเงินตั้งแต่เริ่มชีวิตข้าราชการจนเกษียณ

 

"พ่อกอบ" เริ่มต้นชีวิตข้าราชกา ปี 2519 สังกัดกรมพัฒนาที่ดิน ที่ จ.ปทุมธานี ชีวิตข้าราชการหลายสิบปี แม้เวียนไปหลายจังหวัดแต่ก็กลับมาเกษียณที่นี่ ปี 2555 และตลอดเส้นนี้ไม่มีเส้นทางไหนที่ไม่มีการวางแผน

ผมวางแผนตั้งแต่จบ ม.ศ.3 พ่อผมสอนมา เราเป็นเด็กชนบทยากจนมาอยู่กรุงเทพฯ ถ้ารักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ป่านนี้ไม่ได้เป็นแบบนี้

คำพูดนั้นไม่เกินจริง เพราะ พ่อกอบ วางแผนทุกขั้นตอนตั้งแต่การสร้างครอบครัว พ่อกอบ เล่าละเอียดยิบ ตั้งแต่วันบวช ปี 2521 และการแต่งงานในปีถัดมา แต่การวางสำคัญคือการมีลูกที่ พ่อกอบ ตั้งใจไม่มีลูกแบบหัวปี–ท้ายปี เพราะจะกระทบต่อปัญหาการเงิน

ที่บอกว่าห่วงปัญหาการเงิน เพราะสมัยนั้น (ปี 2523) ตอนที่มีลูกชายคนแรก พ่อกอบ มีเงินเดือนละกว่า 1 พันบาทเท่านั้น

ปี 2523 พ่อกอบมี ลูกชายคนแรก ชื่อ "ป๊อบ" และ 7 ปี ถัดมา จึงมีลูกชายคนที่ 2 ชื่อ "บอย" ด้วยวัยที่ห่างกัน 7 ปี พ่อกอบ บอกว่า เมื่อลูกคนแรกเข้าโรงเรียนแล้ว ลูกคนที่ 2 จะงอแงร้องไห้ก็รับมือไหว เพราะช่วงวัยที่ต่างกันและลูกคนโตเริ่มดูแลตัวเองได้

ภาพจากซ้ายไปขวา พ่อกอบ ป๊อบ บอย และแม่นีย์ ตามลำดับ

ภาพจากซ้ายไปขวา พ่อกอบ ป๊อบ บอย และแม่นีย์ ตามลำดับ

ภาพจากซ้ายไปขวา พ่อกอบ ป๊อบ บอย และแม่นีย์ ตามลำดับ

แผนปลดหนี้ก่อนเกษียณ

เส้นทางข้าราชการ พ่อกอบ ไม่ต่างจากราชการทั่วไป ที่ต้องย้ายที่ทำงานไปประจำสำนักงานอื่นในต่างจังหวัด และต้องหอบหิ้วลูก-เมียไปด้วยทุกครั้ง เพราะยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และยังเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่มีปู่-ย่า ช่วยเลี้ยงหลาน

จากปี 2519 วันเริ่มงาน เงินเดือนขึ้นเฉลี่ยปีละ 70 บาท ปี 2536 ฐานะการเงินของ พ่อกอบ ดีขึ้น ตอนนั้นมีเงินเดือน เดือนละกว่า 3 พันบาท พ่อกอบ ตัดสินใจซื้อบ้าน-ที่ดิน ย่านคลอง 6 จ.ปทุมธานี เพื่อวางแผนชีวิตวันเกษียณ ในวัยที่ไม่มีบ้านพักราชการให้อาศัย และลูก-เมียจะได้ไม่ต้องกระเตงตามย้ายที่อยู่เมื่อ พ่อกอบ ต้องไปรับตำแหน่งในต่างจังหวัด

เวลานั้น เงินเดือนกว่า 3 พันบาท และภาระการผ่อนจ่ายค่าบ้าน-ที่ดิน ราคา 3.9 แสนบาท หรือเกือบ 100 เท่า ของเงินเดือน ท่ามกลางวันเวลาที่ลูกชาย 2 คนกำลังโต ท่านผู้อ่านคงเกิดคำถามว่า พ่อกอบ สามารถบริหารจัดการภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายได้อย่างไร

 

พ่อกอบ แบ่งเงินเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือรายจ่ายประจำ เช่น ค่านผ่อนบ้าน ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว และส่วนที่ 3 คือเงินใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งส่วนนี้คือเงินที่เหลือจาก 2 ส่วนแรก เมื่อรายจ่ายมากอย่างนี้ พ่อกอบ จึงท้าให้ทีมงานทายว่าสมัยนั้น พ่อกอบ เหลือเงินใช้จ่ายส่วนตัววันละเท่าไหร่ ?

ตอนนั้นผมมีเงิน วันละ 30 บาท วันนี้กิน 25 บาท เหลือ 5 บาท ก็บวกพรุ่งนี้ บางช่วงที่อยู่แถวนี้ (คลอง6) มีเบ็ดหาปลาได้ ก็ช่วยได้

พ่อสอน "เป็นคนอย่าใหญ่กว่าเสื้อ"

วิธีคิดแบบเป็นขั้น-เป็นตอนแบบนี้ ย่อมมีที่มา พ่อกอบ เผยวิธีคิดนี้คือวิธีคิดที่พ่อสอน ซึ่งโดยพื้นฐานครอบครัวพ่อกอบที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นข้าราชการอยู่แล้ว 

พ่อกอบ กล่าวว่า พ่อสอนแบบนี้เป็นหลักวิชา ให้กันค่าเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกคนที่บ้านจัดการแบบนี้ ที่สำคัญไม่ต้องไปเวอร์ ส่วนจะฟลุกถูกหวยรวยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การใช้จ่ายผมคิดแม้กระทั่งข้าวสาร เดือนหนึ่งข้าวสารต้องมีก่อนอย่างน้อย 1 ถัง ของพื้นฐานอย่างแฟบ สบู่ ยาสีฟัน กะปิ น้ำปลา ต้องมี ที่เหลือมีแต่ซื้อกับข้าว ผมเริ่มแบบนี้จริงๆ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้

คุณพ่อสอนว่าเป็นคนอย่าใหญ่กว่าเสื้อ เพราะจะไม่มีเสื้อใส่ ถ้าเป็นเต่าอย่าให้หัวใหญ่กว่ากระดอง มันจะหดหัวไม่เข้า

หมายถึงเราเป็นข้าราชการทำงานมีเงินเดือนเดือนเท่านี้ สมมติมีเงินเดือน 3 พันบาท แต่ไปทำตัวเหมือนคนมีเงินเดือนหมื่นบาท เมื่อไหร่ก็เจ๊ง มันไม่ทัน เพราะมันไม่พอดีกัน เดี๋ยวเราก็เป็นหนี้เป็นสิน ถ้าเราไม่พอใจในตนเองก่อน

 

พ่อกอบ สอนวิธีเดียวกับพ่อของพ่อกอบไหม ? พ่อกอบ ตอบว่า "สอนๆ อย่างบอย ให้คิดเลยเดือนนี้เท่าไหร่ ตอนเรียนจันทรเกษม เดือนนี้มีกี่วัน ใช้วันละเท่าไหร่ พ่อโอนให้เลยไปรับผิดชอบเอง เพราะฉะนั้นเขาต้องประหยัดอยู่ในตัว ประเภทให้ ให้ ให้ ไม่เอา"

ส่วนความท้าทายของคนยุคนี้ พ่อกอบ กล่าวว่า การควบคุมความอยากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นสะดวกสบายแล้วทำให้อยากได้อยากมีตามเขา เช่น มือถือ เป็นสิ่งที่ทุกคนมี และสิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือการขายของออนไลน์ ดังนั้นคนเราต้องทำใจให้รู้ว่าเรามีแล้ว แม้จะมีของดีกว่าเสนอขายก็ต้องรู้ว่าเรามีแล้ว ไม่ใช่มีแล้วก็ยังซื้อมาเต็มบ้านไปหมด แบบนั้นเขาเรียกว่า "โอเวอร์ไป" ยกตัวอย่าง ตัวผมเอง ที่บ้านมีทีวีอยู่แล้ว แม้ว่าตอนนี้จะมีแบบจอบางวางขาย แต่ก็ไม่ซื้อใหม่ เพราะมันยังใช้ได้อยู่

วางแผนดีมีเวลาดูแล "สุขภาพ"

เรื่องการเงินต้องวางแผน เรื่องสุขภาพก็เช่นกัน เมื่อ พ่อกอบ หมดหนี้ตั้งแต่ก่อนวันเกษียณ หลังเกษียณ พ่อกอบ จึงมีเวลาเต็มที่ในการดูแลตนเอง

 

เดิมที พ่อกอบ เป็นนักวิ่งชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว เกษียณมาจึงเริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่ง แต่ด้วยวัยที่ไม่เหมือนเดิม การฟื้นฟูร่างกายไม่ดีเหมือนเดิม การวิ่งจึงไม่ตอบโจทย์

ผมไม่ได้เริ่มที่จักรยาน ผมเริ่มจากวิ่ง แต่วิ่งแล้วปวดขานาน เพราะร่างกายกระแทก คิดว่าว่ายน้ำดีที่สุด แต่ด้วยเวลา ค่าใช้จ่าย สถานที่นั้นยาก เลยซื้อจักรยานมาปั่น

แม้จุดเริ่มต้นจะเป็นแค่การออกกำลังกาย แต่เหรียญรางวัลคงประกันได้ว่า พ่อกอบ ไม่ได้ปั่นเล่นๆ สนามแข่งขัน เหนือ-ใต้ –อีสาน ผ่านมาหมด ทั้งโปรแกรมของไทยและโปรแกรมของต่างชาติที่จัดในไทย รวมถึงปั่นในสนามแข่งประเทศเพื่อนบ้าน พ่อกอบก็ผ่านมาหมดแล้ว จาก 2 ปีแรกเริ่มซ้อมเพื่อออกกำลังกาย 5 ปีหลังมานี้ พ่อกอบ ก็ไม่เคยห่างสนามแข่ง ที่อย่างน้อยๆ ก็ระยะทาง 70-100 กม.

 


ก่อนเป็นการปั่นอันยาวไกลหลักร้อยโล พ่อกอบ เล่าย้อนถึงวันเกษียณและมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรม เดิน –ปั่น โครงการหนึ่ง 9 วัน 8 คืน ซึ่งครั้งนั้นได้ร่วมพักค้างแรมกับเหล่านักปั่นอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นธรรมดาคนวัยเกษียณต้องมีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีผู้แนะนำให้ พ่อกอบ "ปั่นจักรยาน"

กลับจากทริปนั้น พ่อกอบ จึงตัดสินใจซื้อจักรยานเสือภูเขา คันแรก (ตอนนี้คันแรกยกให้ลูกชายไปแล้ว) ก่อนเวลาต่อมาจะมีคันที่ 2-3-4 สนนราคามีตั้งแต่หลักหมื่น ถึง หลักแสน พ่อกอบ บอกกับทีมงานตรงๆ ว่า บางคันราคาตั้งต้นไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อรวมกับความชอบก็ต้องมีการอัพเกรด เมื่อรวมอะไหล่ค่อยๆ เติมเข้าไปก็เป็นหลักแสน

ความสุขของการปั่น ไม่ใช่การแต่งรถที่เล่ามาข้างต้น แต่สิ่งที่ได้คือ ร่างกาย และสังคม ในส่วนของร่างกายนั้น ไม่ใช่แค่สุขภาพที่แข็งแรง แต่พ่อกอบเห็นว่าเป็น "ตัวชี้วัด" สุขภาพด้วย ถ้าวันนี้ปั่นในรายการ 70-100 กม. ได้ก็เป็นปกติ แต่ถ้าวันไหนปั่นไม่ได้ นั่นแหละ... คือร่างกายเริ่มฟ้องว่ามีปัญหา

การปั่นเป็นตัวชี้วัด อย่างวันนี้ผมขับรถเอาจักรยานไปปั่นที่เขื่อนขุนด่าน พอแข่ง 70-100 กิโลเมตรเคยปั่นได้ ถ้าวันหนึ่งปั่นไม่ได้แสดงว่าร่างกายมีทรุด มันต้องมีอะไรผิดปกติซักอย่าง

ที่มากกว่านั้นคือได้สังคม ปั่นหลายรายการทั่วประเทศ รู้จักกันหมด "ไปทั่วประเทศ รู้จักหมด เจอกันบางที เจอกันอีกแล้ว เจอเชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น ชีวิตไม่เหงาได้เพื่อน"

 

เมื่อถามถึงผลของการวางแผนทั้งสุขภาพและการเงิน พ่อกอบ ตอบว่า "คุ้มครับ" เพราะการวางแผนจึงทำให้มีเวลาและไม่มีปัญหาการเงิน อย่างวันที่ 7-8 พ.ย.นี้ จะเป็นงานเลี้ยงรุ่นของพ่อกอบ กับเพื่อนๆ ที่เรียนเกษตร จ.อุดรธานี ซึ่งทั้งรุ่น พ่อกอบ ยอมรับว่าเพื่อนส่วนใหญ่ยังมีหนี้สิน และบางคนที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพก็ "หายหมด" หมายถึงเสียชีวิตแล้ว แต่เหตุผลที่พ่อกอบ วัย 68 ปี ได้มาพูดคุยแบบนี้ก็เพราะการจัดการตนเองที่ดี

"ถ้าทำตามเขาโรคมันมาหมด พอหกสิบเจ็บสิบแล้วมันจะมาทั้งปวดเอว เบาหวาน เราศึกษาเรียนมา รู้วิธีแก้ป้องกัน ดังนั้นต้องป้องกันเรื่องกิน ออกกำลัง พักผ่อน และได้ผลจริง ๆ"

ไม่ว่าร่างกาย –การเงิน ยุคนี้เหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน การเงินไม่ดี-ชีวิตก็ไม่เป็นสุข ความเครียดก็ตามมาและมีผลต่อร่างกาย และหากร่างกายไม่ดี ก็ย่อมมีผลต่อชีวิตบั้นปลายเช่นกัน "ไม่ป่วย –ไม่เป็นหนี้" คือกำไรในวัยเกษียณแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง