เรียก "ช้าง" อย่างไร ให้ถูกต้อง

สิ่งแวดล้อม
8 ต.ค. 62
12:45
86,280
Logo Thai PBS
เรียก "ช้าง" อย่างไร ให้ถูกต้อง
สำนักราชบัณฑิตสภา อธิบายคำเรียกช้างแต่ละประเภท ทั้ง ช้างพลาย ช้างสีดอ ช้างพัง และ ลักษณนามที่เรียกช้างป่า ช้างบ้าน และช้างเข้าประจำการที่ใช้ลักษณนามแตกต่างกัน

จากเหตุการณ์ช้างป่าพลัดตกน้ำตกเหวนรก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตายรวม 11 ตัวทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ พบข้อมูลเกี่ยวกับช้างโดย สำนักราชบัณฑิตสภา เขียนโดยนายพัชนะ บุญประดิษฐ์ ซึ่งได้อธิบายเกี่ยวช้าง ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

"ช้าง" เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอย่างหนึ่ง ลักษณะโดยทั่วไป ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตัวสีเทา มีจมูกยื่นยาวเรียกว่า งวง มีฟันยื่นยาวใต้งวงเรียกว่า งา ตัว ช้างตัวผู้มีงายาวเรียก "ช้างพลาย" ช้างตัวผู้งาสั้นเรียก "ช้างสีดอ" ช้างตัวเมียเรียก "ช้างพัง" ตัวผู้ถ้าตกมันมีความดุร้ายมาก นอกจากเรื่องที่กล่าวมานั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ยังให้ความรู้เกี่ยวกับช้างไว้อีกหลายเรื่อง จึงนำมาเสนอให้ได้ทราบ ดังนี้

คำเรียกช้างมีอย่างอื่น เช่น กุญชร คช คชสาร คชาชาติ เจ่ง ดมไร ช้างป่าใช้ลักษณนามว่า "ตัว" เมื่ออยู่รวมกันหลายตัวเป็นฝูงเรียกว่า "โขลง" มีช้างพังอายุมากเป็น "จ่าโขลง" เมื่อนำช้างป่ามาฝึกใช้เป็นช้างบ้าน ลักษณนามของช้างบ้านใช้ว่า "เชือก" และเมื่อนำช้างมาขึ้นระวางคือนำมาเข้าทำเนียบหรือเข้าประจําการ ลักษณนามของช้างขึ้นระวางใช้ว่า "ช้าง"

งวง คือจมูกของช้างที่ยื่นยาวออกไป ตรงปลายมีจะงอยสําหรับจับของ งวงช้างมีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ภุช ภูโช วารณกร หัตถ์ อวัยวะส่วนที่อยู่โคนงวงช้างที่มีรูปโป่งคล้ายลูกนํ้าเต้าเรียกว่า น้ำเต้า

งา คือฟันตัดแถวบนที่งอกออกจากปากช้าง ลักษณนามที่ใช้เรียกคือ "กิ่ง" งามีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ทนต์ ทันต์ นาคทนต์ ทาฒะ ทาฐะ ถ้างาช้างมีขนาดใหญ่แต่สั้นและมักจะชี้ตรง เรียกว่า งาเนียม ถ้างายาวมากแต่มีวงรอบเล็กเรียกว่า งาเครือ งาของช้างพังเรียกว่า ขนาย เนื้อหุ้มที่โคนงาช้างเรียกว่า สนับงา

"ตกมัน" เป็นคำวิเศษณ์ ใช้เรียกลักษณะที่ต่อมน้ำมันที่ขมับของช้างบวมโตและมีน้ำมันใส ๆ ไหลออกมา ทำให้ช้างตัวผู้มีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ดุร้าย มีกลิ่นสาบฉุน เรียกช้างที่มีอาการนั้นว่า ช้างตกมัน

"คชาชีพ" คือคนเลี้ยงช้างหรือหมอช้างหรือควาญช้าง "ตะพุ่น" คือพวกคนหลวงที่ถูกเกณฑ์ให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง ตะพุ่นหญ้าช้าง คือโทษอาญาหลวงสมัยโบราณ หรือคนที่ถูกลงโทษให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง

"จัตุลังคบาท" คือเจ้ากรมพระตำรวจหลวงประจำ 4 เท้าช้างทรงของพระมหากษัตริย์ในเวลาสงคราม "ดุษฎีสังเวย" เป็นบทร้อยกรองที่แต่งเป็นฉันท์สําหรับกล่อมช้าง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง