“C- AIR” ระบบติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศภาคประชาชน

สังคม
9 ต.ค. 62
19:14
459
Logo Thai PBS
“C- AIR” ระบบติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศภาคประชาชน
เครือข่ายภาคประชาชนจับมือสร้างระบบ C-AIR พัฒนาระบบติดตามคุณภาพอากาศภาคประชาชน ให้ประชาชนรับรู้ค่าฝุ่น PM2.5 แบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชันในอนาคต เพื่อให้รับมือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบทันท่วงที หลังพบหลายพื้นที่ไม่มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอาศ

กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของทั้งนักวิชาการภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเครื่องมือจัดการแก้ฝุ่น PM 2.5 ที่มีทั้งเครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 และระบบจัดการในแต่ละพื้นที่มาบูรณาการร่วมกันให้เป็นข้อมูลชุดเดียว เพราะที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าถึงการเตือนภัยฝุ่นไม่มากนักเพราะเครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้มีครบทุกจังหวัด และยังมีจังหวัดที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่ขาดการรายงานคุณภาพอากาศ

 

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีกว่า 20 จังหวัดที่ไม่มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศ ทางเครือข่ายจึงเล็งเห็นความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยวางแนวทางที่จะจัดทำแผนที่จุดที่ไม่มีเครื่องวัดแล้วผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการติดตั้ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทม์ ให้สามารถป้องกันสุขภาพได้อย่างทันท่วงทีผ่านการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศภาคประชาชน หรือ C- AIR ซึ่งเป็นฐานการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะมีการรายงาน ค่าฝุ่น PM 2.5 อัพเดทผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ในอนาคต ซึ่งจะมีทั้งเครื่องวัด ระบบข้อมูล และการวางแผนกระจายความรู้สู่ชุมชน

นายมงคลชัย ดวงแสงทอง รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมถูกเพ่งเล็งว่าเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 แต่การหารือวันนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหา หลังจากนี้จะใช้เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกกว่า 11,000 โรง ร่วมหาแนวทางลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 แม้ขณะนี้กฎหมายบางอย่างยังถือกันคนละฉบับ

รศ.วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า จากงานวิจัยพบว่า แต่ละครัวเรือนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6,000 บาท จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 หากรัฐไม่เร่งแก้ปัญหา มูลค่าความเสียหายก็จะเพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ หากวัดมูลค่าความเสียหายของสังคมที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งประเทศ จะพบว่า ในปี 2560 คิดเป็น ร้อยละ 11.75 ของ GDP หรือ ผลิตภันฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยปี 2562 คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของ GDP ดังนั้นการแก้ปัญหาของภาคประชาชน ด้วยระบบ C-AIR จะเป็นการยกระดับการตื่นตัวต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น

สำหรับการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศภาคประชาชน หรือ C- AIR ขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมหารือเตรียมวางแนวทาง ในการจัดทำแผนที่ จุดที่ไม่มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเติมเครื่องวัดคุณภาพอากาศเข้าไป ก่อนเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันในอนาคต คาดว่ากลางเดือน ธ.ค.นี้ จะมีต้นแบบระบบ C- AIR ที่นำมาใช้งานได้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง