"โตโน่ - ต๊ะ พิภู" พายเรือเก็บขยะ ช่วยกู้แม่น้ำจากวิกฤต

Logo Thai PBS
"โตโน่ - ต๊ะ พิภู" พายเรือเก็บขยะ ช่วยกู้แม่น้ำจากวิกฤต
เวทีสาธารณะ "ขยะ แม่น้ำ คนรุ่นใหม่แล้วไง?" เสนอ "นายกฯ - ส.ส." เลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง นำเทรนด์ใช้กระบอกน้ำในที่ประชุมสภาฯ สร้างพฤติกรรมใหม่ เริ่มที่ตัวเอง "พายเรือเพื่อเจ้าพระยา" วันที่ 9 พายเรือฝ่าฝนเข้า กทม. 9 วัน เก็บขยะได้ 1.8 ตัน

วันนี้ (9 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาสาสมัคร พายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปี 2 ได้เริ่มต้นพายเรือจากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นนทบุรี ถึง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระหว่างทาง ได้แวะยื่นหนังสือถึง ประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร บริเวณท่าเรือเกียกกาย ใกล้อาคารรัฐสภา (สัปปายะสภาสถาน)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานกรรมาธิการฯ มารับหนังสือด้วยตัวเอง ระบุว่า จะนำข้อเสนอที่เชิญชวนให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา และเลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และจะผลักดันให้สภาผู้แทนราษฏรของประเทศไทย เป็นสภาผู้แทนราษฏรแห่งแรกในอาเซียน ที่เป็น Green Parliament หรือ สภาผู้แทนราษฎรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ผ่านบทบาทของการเป็นประธานกรรมาธิการฯ

 


จากนั้น เวลา 17.30 น. โดยประมาณ อาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยา พายเรือถึงบริเวณท่าเรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจะเป็นจุดที่อาสาสมัครกว่า 30 ชีวิต ใช้พักค้างในคืนนี้ มีการเปิดเวทีสาธารณะ “ขยะ แม่น้ำ คนรุ่นใหม่แล้วไง?” โดยมีอาสาสมัครพายเรือ ศิลปิน นักแสดง และพิธีกรรุ่นใหม่ ที่ร่วมพายเรือฯ พร้อมด้วยตัวแทน ส.ส.รุ่นใหม่ ร่วมพูดคุยในเวทีฯ


ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดเส้นทางกว่า 300 กิโลเมตร นอกจากจะมีปริมาณขยะเพิ่มจากกิจกรรมพายเรือปีที่แล้ว ยังพบว่า มีรูปแบบของขยะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เช่น ขยะจากคนตกปลา เรือลากเรือโยงในแม่น้ำ แหล่งชุมชน ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน สิ่งของประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงบรรจุภัณฑ์สารเคมีเกษตรที่มีอันตราย และที่พบมากที่สุด คือ ขยะพลาสติก

นายภาคิน คำวิลัยศักดิ์ หรือ โตโน่ ศิลปินและนักแสดง ที่ร่วมพายเรือเก็บขยะตั้งแต่ช่วงเช้าจากจังหวัดนนทบุรี ระบุว่า นี่เป็นการพายเรือเก็บขยะครั้งแรก แม้ก่อนหน้านี้ จะทำกิจกรรมเก็บขยะและก่อตั้งโครงการเก็บรัก มานานกว่า 9 เดือน ซึ่งลักษณะเฉพาะของขยะที่เก็บได้จากแม่น้ำ คือ ขยะจากข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขยะจากครัวเรือน เช่น โฟม พลาสติก


นายภาคิน ยังระบุอีกว่า ในบทบาทของการเป็นประชาชนคนไทย ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นศิลปิน นักแสดง หรือแค่คนรุ่นใหม่ เขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะ โดยเริ่มจากตัวเอง เลือกใช้สิ่งของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการผลิตขยะ และจัดการขยะให้ถูกวิธี ไม่ทิ้งในที่สาธารณะ


นายพิภู พุ่มแก้วกล้า ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร ซึ่งร่วมพายเรือเก็บขยะในวันนี้ด้วย ระบุว่า ในบทบาทสื่อมวลชน สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะได้ ทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และลงมือทำเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกวิธีสื่อสารที่ได้ผลมากกว่า

พร้อมเสนอให้ผู้แทน ส.ส. หรือ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เริ่มต้นทำเป็นแบบอย่างในการลดปริมาณขยะ เช่น ไม่ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์พลาสติกในรัฐสภา โดยออกเป็นระเบียบปฏิบัติให้สมาชิกสภาฯ ทุกคน มีกระติกน้ำพกพา และจัดทำจุดเติมน้ำแทนการให้บริการขวดน้ำดื่มที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก

ขณะที่ นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความพยายามรณรงค์ การลดใช้ขยะพลาสติกในอาคารรัฐสภา ทั้งการประชุมระดับรัฐสภา และประชุมกรรมาธิการฯ โดยส่วนตัวและในที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ที่สังกัดอยู่ ก็เริ่มลดการใช้พลาสติกได้กว่าร้อยละ 50 แล้ว


นายนิติพล ยังเสนอว่า สามารถหาวิธีการนำขยะสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำขยะพลาสติกไปทำเป็นเชื้อเพลิง หรือแปรรูปสร้างมูลค่า สร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อม 

ช่วงท้ายของการพูดคุย ผศ.ปริญญา ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงต้องใช้การมีส่วนร่วม ใช้กระบวนการเดียวกับประชาธิปไตย โดยส่วนตัวเชื่อว่า ใครก็ตามที่ได้มาร่วมเก็บขยะแม้เพียงชิ้นเดียว ก็จะเลิกทิ้งขยะตลอดไป

ผศ.ปริญญา ยังระบุถึงแนวทางที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น คือการเชิญชวนต้นทางของขยะ เช่น ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนี ที่เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตจนจบกระบวนการ บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดต้องรีไซเคิลได้ หากพบว่าถูกทิ้งลงแม่น้ำ จะต้องรับผิดชอบ และบริษัทต้องเป็นผู้จ่าย แต่ประเทศไทยอาจไม่ต้องถึงขนาดนั้น ซึ่งวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.) ได้เชิญตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพบว่ามี 2 ยี่ห้อที่พบในแม่น้ำเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือกับตัวแทนผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ เพื่อประสานหาแนวทางให้นำขยะขึ้นมาทิ้งบนบก ไม่โยนทิ้งลงแม่น้ำอีกต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทำร่วมกัน


สำหรับกิจกรรมวันพรุ่งนี้ จะเริ่มต้นพายเรือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะมีการพักระหว่างทางที่ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม และจะมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ

จุดที่เป็นมหานครที่แม่น้ำไหลผ่าน เราจะไปถึงใจกลางมหานครของกรุงเทพฯ เราจะไปวัดคุณภาพน้ำ เพราะเริ่มต้นเส้นทางจากระดับพอใช้ เมื่อถึงปทุมธานีคุณภาพเสื่อมโทรม นนทบุรี ยิ่งเสื่อมโทรมไปอีก เมื่อถึงไอคอนสยามจะเป็นอย่างไร ต้องสร้างความตระหนักให้คนกรุงเทพฯ เพื่อแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาสาฯ พายเรือเพื่อเจ้าพระยา พบขยะจงใจทิ้ง ส่งผลคุณภาพน้ำต่ำ

"คุณหญิงกัลยา" เล็งบรรจุหลักสูตรแยกขยะพลาสติกในโรงเรียน

"ธรรมศาสตร์" ระดมอาสาฯ พายเรือเก็บขยะ ปากน้ำโพถึงอ่าวไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง