รุกฆาตสารเคมี ?

Logo Thai PBS
รุกฆาตสารเคมี ?
ยิ่งใกล้การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปลายเดือนตุลาคมนี้ การเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านการแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ยิ่งเข้มข้น และมติที่ออกมาจะชี้ว่า ใครคือหญ้าแพรกแหลกลาญ จากศึกช้างสารที่ยึดถือข้อมูลแตกต่างกัน

9 ต่อ 0 คือ มติจากการประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย ทั้งตัวแทนภาครัฐ, ผู้นำเข้า, เกษตรกรและผู้บริโภค ให้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ขึ้นจากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็น 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มีผล 1 ธันวาคมนี้ ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามครอบครอง โดยตัดวรรคที่ 2 จากฉบับเมื่อปี 2535 ออกไป

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม จะส่งมตินี้ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ก่อนการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปลายเดือนตุลาคมนี้ แต่ไม่มีคำตอบว่าสารหรือสิ่งใดจะมาใช้ทดแทน 3 สารเดิม และเธอกล่าวว่า “หากมติที่ประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลหรือเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็ถือว่าตนเองได้หมดหน้าที่แล้ว” 

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ 
ภาพ : Link Link Lovesong

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ภาพ : Link Link Lovesong

 

ผู้มีอำนาจหนึ่งเดียวที่จะสั่งแบนหรือไม่ คือ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 กำหนดตัวบุคคลไว้ดังนี้

ยังมีกรรมการจากการแต่งตั้งโดย ครม. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 8 คน

รวมถึงผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร และผู้แทนสำนักงาน อย.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ย้อนไปเมื่อต้นปี คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติ 16 ต่อ 5 “ไม่แบน” สารเคมีทั้ง 2 ชนิด แต่ให้กรมวิชาการเกษตรไปหาวิธีเพื่อลดผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดเสียงไม่พอใจจากฝ่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เคลื่อนไหว จนยกระดับกดดันมาที่รัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาของกรรมการเสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นข้าราชการ

กระทรวงเกษตรฯ มีตัวแทน 4 เสียง โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร ผู้ให้ข้อมูลวิชาการและมีผลต่อการตัดสินใจลงมติ กระทรวงที่สร้างประวัติศาสตร์ 4 คน 4 พรรค เบียดแบ่งเก้าอี้ในกระทรวงเดียวกันได้ และ “มนัญญา” ได้กำกับหน่วยงานนี้

อีกมุมหนึ่ง เธอคือตัวแทนพรรคภูมิใจไทย และ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ผู้ออกตัวสนับสนุนเรื่องนี้ได้ร้อนแรงไม่แพ้ใคร หล่นวาทะ “กระจอก” ต่อกระแสข่าวข่มขู่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในแนวร่วมเคลื่อนไหว และปัจจุบันควบตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขด้วย เวลาต่อมา ป้ายข้อความแบน 3 สาร จึงปรากฏตามโรงพยาบาลในสังกัด ซึ่งอาจสมเหตุผล เพราะแพทย์พยาบาล ต้องรับภาระรักษาคนเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารพิษ

ป้ายผ้าต่อต้านการใช้สารพิษฆ่าหญ้า 
ภาพ : FB อนุทิน ชาญวีรกูล

ป้ายผ้าต่อต้านการใช้สารพิษฆ่าหญ้า ภาพ : FB อนุทิน ชาญวีรกูล

 

ปลายหอกแทนที่จะพุ่งตรงไปหา รมว.อุตสาหกรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป้าหมายกลับเป็น “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” จากค่ายประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ 9 ตุลาคม เครือข่ายต่อต้านสารเคมี รวมตัวขอเข้าพบ แต่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าตัวป่วยกะทันหันถูกส่งโรงพยาบาลไปก่อนแล้ว และจะเรียกว่า “ผิดคิว” ก็ได้ เมื่อมีมวลชนเกษตรกรอีกกลุ่ม มาที่กระทรวงเกษตร เพื่อส่งเสียงเรียกร้อง “ไม่แบน"

แน่นอน พวกเขาไม่เจอทั้ง “เฉลิมชัย” และ “มนัญญา” แต่ได้เผชิญหน้ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” พร้อมทวงถามถึงสิ่งทดแทนสารเคมี 3 ชนิด ในต้นทุนและประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน
จากเฟซบุ๊ก : ภัทราพร ตั๊นงาม-ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

“ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรกลุ่มไหน ถ้าได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้ 3 สาร กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะที่ดูแลเกษตรกรทั่วประเทศ จะต้องรับผิดชอบ” หนึ่งในฝ่ายเคลื่อนไหวให้ “แบน” กล่าวไว้ระหว่างเข้าพบนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ

 

คำถามที่รัฐมนตรีหญิงแห่งอุทัยธานี ก็ยังตอบไม่ได้ จะทำอย่างไรให้ผักปลอดสารเคมีตกค้าง ด้วยต้นทุนการผลิตต่ำ คนปลูกอยู่ได้ คนกินปลอดภัย ท่ามกลางข้อมูลถูกหยิบยกขึ้นมาอ้าง มาจากแพทย์บ้าง นักวิจัยต่างประเทศบ้าง

โลกแห่งแนวโน้มใหญ่ (Mega Trends) ที่มีฐานข้อมูลขนาดยักษ์ (Big Data) สืบค้นได้ง่ายดาย แต่ข้อมูลมากมายคงไร้ความหมาย หากขัดกับความเชื่อ, ผลประโยชน์ หรือวาระซ่อนเร้น “นายทุน” ที่บางฝ่ายเกลียดชังนักหนา อาจได้รับผลกระทบบ้าง เพราะที่ผ่านมาต้องปรับตัวตามกระแสว่าจะแบนไม่แบนอยู่ตลอด แต่แน่นอนว่า พวกเขาจะไม่ใช่คนเดือดร้อนที่สุดในเรื่องนี้

 

เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง