5 ปีในเรือนจำของ“แพะ สิงห์บุรี” การรอคอยที่ทรมานของแม่-ลูก

อาชญากรรม
19 มิ.ย. 58
04:25
910
Logo Thai PBS
5 ปีในเรือนจำของ“แพะ สิงห์บุรี” การรอคอยที่ทรมานของแม่-ลูก

“แพะ” ในกระบวนการยุติธรรม หนังม้วนเดิมที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่จะมีแพะสักกี่คนที่ได้รับคืนความยุติธรรม มีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองออกมาสู้คดี ไม่ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ

นายพัสกร สิงคิ ชาว ต.บ้านจ่า อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี อายุ 25 ปี จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย และถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี มาแล้ว 5 ปี ได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ประกันตัวออกมาสู้คดี หลังจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่ตัดสินให้นายพัสกรได้รับโทษจำคุก 20 ปี ในข้อหาฆ่าคนตาย

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 นายพัสกรตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตาย จากเหตุการณ์งานอุปสมบทใกล้บ้านใน จ.สิงห์บุรี ซึ่งเกิดเหตุทะเลาะวิวาทด้วยกันหลายกลุ่ม นายพัสกรไปร่วมงานในคืนนั้น ก่อนจะทะเลาะวิวาทกับนายสมคิด ทองกุล ซึ่งอยู่ในอาการเมาสุรา เป็นเวลาเดียวกับที่นายสมคิดยังมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับบุคคลอื่นอีก 2 คน

ต่อมาพี่ชายนายพัสกรได้นำตัวนายพัสกรกลับบ้าน เพราะเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลาย ส่วนนายสมคิดถูกนายพต เกิดผล นำตัวกลับบ้าน แต่ระหว่างทางมีชาย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 2 คัน ทราบภายหลังคือนายสราวุธ และนายธวัชชัย ใช้ปืนยิงใส่รถนายสมคิด แต่กระสุนพลาดไปโดนนายพตเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่บ้านเพื่อพบนายพัสกร โดยไม่ได้แจ้งว่าเหตุยิงกันเสียชีวิต

กระทั่งบ่ายวันรุ่งขึ้นจึงเดินทางมาที่บ้านอีกครั้งและแจ้งข้อหาฆ่าคนตายแก่นายพัสกร หลังจากนั้นการดำเนินคดีที่สภ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี โดยไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจน เพียงแต่บอกว่าอยู่ในกลุ่มที่เป็นผู้ลงมือยิงหลังงานกินเลี้ยงโต๊ะจีนในคืนนั้น

“ตำรวจมาพบที่บ้านในคืนเกิดเหตุ แต่ไม่บอกว่ามาหาลูกชายทำไม และไม่บอกว่ามีเหตุยิงคนตายเกิดขึ้น จนอีกวันตอนบ่ายจึงมีการออกหมายจับ” นางเสนาะ สิงคิ มารดาของนายพัสกร ย้อนเหตุการณ์คืนวันเกิดเหตุให้ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส ฟัง

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.บางระจัน จึงเริ่มต้นกระบวนการทำคดี โดยในวันถัดมา นำตัวลูกชายไปตรวจเขม่าดินปืนที่มือ
นางเสนาะไม่เชื่อว่าลูกชายของตัวเองเป็นคนร้ายยิงนายพตเสียชีวิต จึงใช้เวลาช่วงปี 2551-2553 ร้องเรียนหลายต่อหลายหน่วยงาน แต่เสียงของเธอและครอบครัวได้รับการตอบรับจากกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2553 มีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง มอบหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดชุดลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน พบพยานหลักฐาน และพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์ ที่สามารถยืนยันเหตุการณ์ยิงนายพตเสียชีวิตในคืนวันนี้ได้

“ถึงไม่รู้อะไรเลย แม่ก็ไปร้องเรียน สำเร็จไม่สำเร็จแม่ก็ไป เงินทอง ค่ารถ สำหรับแม่เต็มร้อย” นางเสนาะเล่าถึงความยากลำบากในการเรียกร้องหาความยุติธรรมให้กับลูกชาย

ตามกระบวนการ การจะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ เพื่อพิสูจน์ความจริง จะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วในศาลฎีกา ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปี ประกอบกับการจะพิสูจน์ความจริงให้ปรากฎ นั่นหมายความว่า จำเลยจะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ที่ทำให้ผู้พิพากษาเชื่อได้ว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญของคดี จึงจะสามารถนำมายื่นเพื่อขอรื้อคดีได้

นายคมหาญ ไปสุวรรณ ทนายความกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การสืบพยานในเดือนกรกฎาคม ได้มีการขอให้นายสราวุธ ผู้ต้องหาตัวจริง มาร่วมขึ้นให้การในการรื้อฟื้นคดีใหม่ด้วย “พยานหลักฐานใหม่มีทั้งผู้กระทำความผิดที่แท้จริง ประจักษ์พยานที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นผู้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเห็นเหตุการณ์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญในคดี หากเขาเข้ามาอยู่ในคดีตั้งแต่แรก ข้อเท็จจริงก็จะไม่เป็นอย่างนี้” ทนายความกล่าว

ส่วนเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ลงไปสอบสวนเหตุการณ์ใหม่ทั้งหมด ระบุว่า คดีที่ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นแพะรับบาป นั้น ขณะนี้มีอยู่กว่า 40 คดี คดีนี้อาจเป็นหนึ่งในไม่กี่คดี ที่ได้รับการแก้ไขให้จำเลยมีโอกาสกลับออกมา

ด้วยความทุกข์ของผู้เป็นแม่ ที่ต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อตามหาความยุติธรรมและอิสรภาพให้กับลูกชาย ในระยะเวลา 5 ปี แม้คนทั่วไปอาจมองว่าไม่นาน แต่สำหรับชีวิตในเรือนจำของนายพัสกรนับว่ายาวนานมาก และยิ่งคนเป็นแม่ยาวนานอย่างไม่สิ้นสุด

“แม่เคยคิดว่า แม่จะมีชีวิตอยู่ถึงตอนที่ลูกออกจากคุกหรือเปล่า” นางเสนาะสะท้อนความรู้สึกที่ต้องรอคอยความยุติธรรมกว่าจะมาถึง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง