ผู้ผลิตสารชีวภัณฑ์ "นิวตรอน" ยันเลิกผลิตมา 3 ปีแล้ว

ภูมิภาค
11 ต.ค. 62
16:29
7,975
Logo Thai PBS
ผู้ผลิตสารชีวภัณฑ์ "นิวตรอน" ยันเลิกผลิตมา 3 ปีแล้ว
ผู้ผลิตสารชีวภัณฑ์ นิวตรอน ใน จ.อุตรดิตถ์ ที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่าปลอดภัย สามารถทดแทนสารเคมี 3 ชนิด ที่กำลังรณรงค์ให้เลิกใช้อยู่ในขณะนี้ได้ยืนยันว่า ได้ยุติการผลิตมานาน 3 ปีแล้ว แต่จากการตรวจสอบพบว่ายังมีผู้ใช้และขายใน จ.เชียงใหม่ อยู่

วันนี้ (11ต.ค.2562) จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ มีการเผยแพร่สรรพคุณว่าสามารถใช้ทดแทนสารเคมี 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซท ที่ขณะนี้กำลังรณรงค์ให้ยกเลิกเพราะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบ นายชัยพล เมฆไหว เพื่อพาตรวจสอบสถานที่ที่เคยใช้เป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ และชีวภาพชาววัง ทะเบียน 6530106/10009 อยู่ที่ 244 ม. 4 ต.วังกะพี้ อ.เมืองอุตรดิตถ์ โดยผู้มีอำนาจในการดำเนินงาน 3 คน คือ นายชัยพล เมฆไหว, นายทิพย์ประเสริฐ บุตตะเทิง และนายสมจิตต์ จันทร์พันธ์ ผลิตสารชีวภัณฑ์ ชื่อ "นิวตรอน" 

 

นายชัยพล ระบุว่า เคยผลิตสารชีวภัณฑ์ดังกล่าวจริง แต่หลังขึ้นทะเบียนไม่ผ่าน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่มาถอนอายัดไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่นั้นได้หยุดการผลิตแล้ว ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีเหลืออยู่ได้ขายไปทั้งหมดนานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นของเก่าและไม่สามารถลบออกได้ ขณะที่การพบเห็นในเว็บไซต์คาดว่าผู้ที่รับไปจำหน่ายก่อนหน้านี้ได้นำไปเผยแพร่เอง

 

 

นายสุรพล อนุสรพรพงศ์ ชาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยใช้และขายสารชีวภัณฑ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ได้สั่งสารดังกล่าวทางอินเทอร์เน็ต จาก จ.อุตรดิตถ์ ก่อนแนะให้นำเพื่อนและคนรู้จักทดลองใช้ พร้อมโพสต์ขายในสื่อออนไลน์ ซึ่งยังมีการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก 


นายสิทธิ์ แดงประดับ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.อุตรดิตถ์ ระบุว่า ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อเพราะสารดังกล่าวยังไม่ผ่านการรับรองและอันตราย ที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบร้านต่อเนื่องหากพบขายก็จะถูกดำเนินคดี

 


จากการตรวจสอบพบว่าสารดังกล่าว ขายกันในลักษณะบอกต่อๆกันไปในเครือข่ายของกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเอง และทางออนไลน์ ไม่ได้ขายตามร้านค้าเคมีเกษตรทั่วไป แม้จะทำให้หญ้าตายบ้างแต่ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งแมลงที่ฉีดพ่นก็ไม่ตายด้วย หากใครพบเห็นจำหน่ายให้แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ในจังหวัดนั้นๆเพื่อตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง