"ศุภชัย" ยืนยันลงนามไฮสปีดฯ ตามนัดแน่นอน

เศรษฐกิจ
15 ต.ค. 62
17:47
228
Logo Thai PBS
"ศุภชัย" ยืนยันลงนามไฮสปีดฯ ตามนัดแน่นอน
“ศุภชัย” ยืนยัน ลงนามไฮสปีด 3 สนามบินตามนัด 25 ต.ค.นี้แน่นอน หากรัฐบาลไม่มีเงื่อนไขพิเศษ ด้าน “ศักดิ์สยาม” ระบุ ยึดเจรจาตามกรอบ RFP แต่หากไม่มาจะติดแบล็คลิสต์และเป็นผู้ทิ้งงานภาครัฐ

วันนี้ (15 ต.ค.2562) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงนามโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาทว่า กลุ่ม CPH พร้อมที่จะลงนามสัญญาในวันที่ 25 ต.ค.นี้แน่นอน ตามที่รัฐบาลกำหนด

 

แต่การลงสัญญาจะทำได้ ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่เจรจากันในกรอบเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ RFP และไม่มีการเพิ่มเงื่อนไขอื่นใดพิเศษมาจากฝ่ายรัฐบาล ส่วนเรื่องการส่งมอบพื้นที่ให้เป็นไปตามที่สัญญากำหนด ขณะนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่มีผู้ดูแลรายละเอียดแล้วคือ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี)

ส่วนโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2 แสนล้านบาทซึ่งทางกลุ่ม CP ถูกตัดสิทธิ์ไปนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์กรณีคณะกรรมการฯตัดสิทธิ์การประมูลต่อศาลแล้ว โดยยืนยันที่จะรักษาสิทธิ์การประมูลเพื่อยื่นข้อเสนอแข่งขันกับทางกลุ่ม BTS

 

 

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่ากรณีที่เอกชนกล่าวถึงข้อเสนอนอกสัญญานั้น ไม่ทราบเรื่อง และยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมจะเน้นการเจรจาตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน RFP ไม่มีน้อยกว่าหรือมากกว่าที่เขียนไว้ในเอกสารสัญญาทั้งหมด

อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า จะไม่มีการล้มประมูล หรือยกเลิกสัญญา หากทั้งสองฝ่ายสามารถยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดที่ระบุไว้ใน RFP ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ซึ่งจะมีการเสนอเรื่องนี้ให้พิจารณาความครบถ้วนและความถูกต้องก่อนที่จะมีการลงนามสัญญากันในวันที่ 25 ต.ค. นี้ด้วย ดังนั้นหากเอกชนไม่มาลงนามตามวันที่กำหนดก็จะต้องทำตามเงื่อนไข RFP คือการติดแบล็คลิสต์ และระบุให้เป็นผู้ทิ้งงานภาครัฐ

ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต้องการให้โครงการที่เกิดขึ้น มีความเป็นธรรมต่อการรถไฟฯ ประชาชน และจะต้องไม่มีการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตหรือการขยายเวลาการก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้การรถไฟฯเสียโอกาสในที่ดิน ขณะที่สาเหตุที่เอกชนเรียกร้องให้มีเงื่อนไขหากมีการส่งมอบพื้นที่ได้ครบ เอกชนสามารถเลื่อนการก่อสร้างได้ในอนาคต เพราะก่อนหน้านี้การส่งมอบพื้นที่มีความไม่แน่นอนสูง ต้องประสานงานกัน 8 หน่วยงาน 4 กระทรวง และแต่ยังมีความไม่แน่นอนในการจัดสรรงบประมาณ ทำให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้กฎหมายอีอีซี จึงมีการจัดสรรงบประมาณพิเศษในการโยกย้ายสาธารณูปโภค จึงมองว่า เมื่อไม่มีปัญหาความไม่แน่นอนในการส่งมอบพื้นที่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเงื่อนไขดังกล่าวอีก

ถ้าไม่แก้ไข ไม่ตัดเงื่อนไข หรือชะลอการส่งมอบพื้นที่ขอเตือนว่าคณะกรรมการ บอร์ดใหม่รถไฟ คณะกรรมการอีอีซี และคณะรัฐมนตรี ถ้าดำเนินการทำให้การรถไฟฯเสียเปรียบ ผมคิดว่าจะมีความเสี่ยงที่จะเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผิดกฎหมาย

นายธีระชัย ยังเสนอให้บอร์ดใหม่การรถไฟฯ พิจารณาในประเด็นนิติบุคคลที่ให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจจากจีน มาทำข้อตกลงกับการรถไฟฯ โดยตรงเพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องมาตรฐานการให้บริการและการซ่อมบำรุง 

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมทำทุกอย่างให้โปร่งใส หากถึงเวลาแล้วกลุ่มซีพี ไม่มาเซ็นสัญญาก็เรียกผู้ประมูลรายที่สองมาเจรจา ส่วนจะลงโทษฝ่ายเอกชนที่ไม่ลงนามอย่างไรก็เป็นไปตามกฏหมาย อย่าให้มีลักษณะอื่นแอบแฝง เพราะสังคมติดตามการประมูลครั้งนี้อยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง