อภิปรายร่างงบฯปี 63 บทพิสูจน์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

Logo Thai PBS
อภิปรายร่างงบฯปี 63 บทพิสูจน์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ถูกจับตามองว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายสำคัญ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ต.ค.นี้

การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ถูกจับตามองว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายสำคัญ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณารับหลักการวาระแรก โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 - 3 วัน

ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 บทพิสูจน์รัฐบาล"ปริ่มน้ำ" 


มีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ในฝ่ายรัฐบาลเอง ที่เห็นตรงกันว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบ

เสียงเตือนจากในซีกรัฐบาลนั้นก็เป็นเพราะจำนวน ส.ส.ของรัฐบาลและฝ่ายค้านใกล้เคียงกันมาก หรือที่เรียกกันว่า “รัฐบาลปริ่มน้ำ” ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาล ก็เคยแพ้การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 ครั้ง ในการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และมีการกล่าวโทษว่าเป็นเพราะ “ระบบเสียง”ของรัฐสภาไม่ดี ทำให้ ส.ส.ที่อยู่นอกห้องประชุมไม่สามารถติดตามการประชุมได้


เช็กจำนวน ส.ส.ฝ่ายค้าน – รัฐบาลล่าสุด

เมื่อตั้งรัฐบาลในวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลมี 19 พรรค และมี ส.ส. 254 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้าน 7 พรรค มี ส.ส.จำนวน 246 เสียงแต่ 3 เดือนผ่านไป ส.ส.ในฝั่งรัฐบาล เหลือเพียงจำนวน 251 เสียง หายไป 3 เสียง ได้แก่

1.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากต้องคำพิพากษาจำคุกคดีล้มการประชุมอาเซียนซัมมิท

2. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะไม่พอใจการจัดสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร

3.นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้าน จากกรณีเดียวกัน

แม้การย้ายขั้วของ ส.ส.จาก 2 พรรคเล็ก ทำให้จำนวน ส.ส.ฝ่ายค้านเพิ่มขึ้น 2 คน แต่ก็มี ส.ส.เก่าของฝ่ายค้านที่หายไป 3 คน ทำให้ฝ่ายค้านยังคงมี ส.ส.ลดลงจากจำนวน 246 เสียง เป็น 245 เสียง ซึ่ง ส.ส.ที่หายไป ได้แก่

1.ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากกรณีคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.

2. นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ที่ลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อม 23 ต.ค.นี้

3.นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตในคดีจ้างวานฆ่าอดีตปลัด อบจ.ขอนแก่นและไม่ให้ประกันตัว

ทำให้จำนวน ส.ส.รัฐบาลต่อฝ่ายค้าน อยู่ที่ 251 ต่อ 245 เสียง ต่างกันเพียง 6 เสียงเท่านั้น ซึ่งหากประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 คน ซึ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ต้อง “งดออกเสียง” เพื่อรักษาความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ก็จะทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเหลือ 248 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมี 245 เสียง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลสำหรับรัฐบาลพอสมควร แม้จะมีเสียงจากแกนนำรัฐบาลออกมาแสดงความมั่นใจว่า รัฐบาลจะได้เสียงข้างมากในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็ตาม

2 ทางเลือกรัฐบาล

ทั้งนี้ หากรัฐบาลเกิดการเพลี่ยงพล้ำหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถได้เสียงข้างมาก ก็ยังคงมีทางเลือก 2 ทาง ในการแสดงความรับผิดชอบ ก็คือ “ยุบสภา” หรือ “ลาออก” ซึ่งความแตกต่างก็คือ หากยุบสภา จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่การลาออกจะเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่

ทั้งนี้ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่รัฐบาลต้องการทั้ง 2 ทาง เพราะหากลาออก เพื่อให้พรรคการเมืองจับขั้วตั้งรัฐบาลกันใหม่ ประสบการณ์ในการตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา ก็ทำให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ก็จะได้เสียงข้างมากก็ต้องเจรจากับพรรคการเมืองมากถึง 19 พรรค แต่แค่ 3 เดือนก็หายไปแล้ว 2 พรรค เหลือ ส.ส.พรรคเล็กเพียง 7 พรรค จาก 9 พรรค ซึ่งทุกคะแนนล้วนแต่เป็นตัวแปรสำคัญทั้งสิ้น

ที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลพยายามดึง ส.ส.จากซีกฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อไทยหรืออนาคตใหม่บางคน บางกลุ่มให้ย้ายขั้ว โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญในการดึงดูด ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็คือ เม็ดเงินงบประมาณจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของรัฐบาลนั่นเอง

แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปให้ได้ โดยเฉพาะในวาระรับหลักการ (วาระแรก) และหลังจากนั้นในขั้นตอนของการแปรญัตติ ก็ถือเป็นอีกกลไกสำคัญ ที่จะทำให้แรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาลลดน้อยลง หรือเพิ่มขึ้นก็ได้ ผ่านการปรับลด หรือเพิ่มงบประมาณในกระบวนการแปรญัตติ รวมทั้งอาจใช้การแปรญัตติ ดึงดูด ส.ส.ในซีกฝ่ายค้านให้ยกมือสนับสนุนในท้ายที่สุดก็ได้เช่นกัน

ส่วนอีกหนึ่งทางออกของรัฐบาล คือการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท ในการจัดการเลือกตั้ง ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่รัฐบาลต้องการ เพราะทักษะความเป็นนักการเมืองอาชีพของพรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เชี่ยวชาญหรือชำนาญพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงจากการเลือกตั้งอีกครั้ง เช่น กรณีการได้รับคะแนนนิยมอย่างเกินความคาดหมายของพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น

หรือแม้แต่ฝ่ายค้านก็คงไม่ต้องการเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะยืนยันมาตลอดว่าภายใต้กลไกการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2560 ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน รวมทั้งมีแผนที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยหน้าด้วย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ย้อนรอย 4 นายกฯ “ลาออก” หลังแพ้โหวตในสภาฯ

 

สุภาวดี อินทะวงษ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง