เปิดข้อบังคับสภาฯ ให้อำนาจสั่งหยุด ส.ส.อภิปรายนอกประเด็น

การเมือง
17 ต.ค. 62
15:20
620
Logo Thai PBS
เปิดข้อบังคับสภาฯ ให้อำนาจสั่งหยุด ส.ส.อภิปรายนอกประเด็น
ข้อบังคับประชุมสภาฯ ให้อำนาจประธานในที่ประชุมสั่ง ส.ส. หยุดอภิปรายได้ หากเห็นว่าการอภิปรายอยู่นอกประเด็น ขณะที่นักวิชาการ ชี้ว่าสภาฯไทยมักใช้วิธี "อะลุ่มอล่วย" ให้ ส.ส. ได้พูดและไม่เลือกหยุดการอภิปราย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม ได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2563 วาระแรก

ช่วงหนึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในการเสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2563 เข้าสู่สภาฯ เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจ เนื่องจากนายกฯ ยังถวายสัตย์ไม่ครบ ดังนั้นการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ จึงเป็นการร่วมทำสัตยาบัน ยอมรับว่ารัฐบาลถูกต้องด้วยกฎหมาย พร้อมกับเปรียบเทียบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นเหมือนผลไม้พิษ ที่มาจาก ครม.ที่ไม่มีอำนาจ

ทั้งนี้การอภิปรายดังกล่าวไม่ได้อยู่ในประเด็นงบประมาณ ปี 2563 ไทยพีบีเอสออนไลน์ จึงค้นข้อบังคับการประชุมสภาฯ ว่า ส.ส. สามารถอภิปรายนอกประเด็นได้หรือไม่ ซึ่งพบว่ามีข้อบังคับอย่างน้อย 2 ข้อ ที่ประธานที่ประชุมสภาฯ สามารถสั่ง ส.ส. ที่อภิปรายนอกประเด็นให้หยุดการอภิปรายได้ ดังนี้

ข้อ 69 การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใดๆ มาอ่านในที่ประชุมฟังโดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใดๆ มาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต

         ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียพสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

ข้อ 70 ถ้าประธานเห็นว่าผู้ได้ได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ประธานจะให้ผู้นั้นหยุดอภิปรายก็ได้

อ่านข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพิ่มเติม 

รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า สภาฯ ไทยใช้วิธีอะลุ่มอล่วย คือไม่ตัดบท ส.ส. ที่อภิปรายนอกประเด็นทันที แม้จะมีข้อบังคับการประชุมอยู่แล้ว แตกต่างจากบางประเทศที่สภาฯ มีความเข้มงวด เช่น ส.ส.อภิปรายนอกประเด็นอาจสั่งให้หยุดทันที หรือใช้เวลาเป็นข้อจำกัด เช่น หากให้เวลา 5 นาที เมื่อครบ 5 นาทีก็จะตัดไมค์ไม่ให้พูดต่อ ไม่ว่าจะพูดในประเด็นหรือนอกประเด็น

ส่วนกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่มีการพูดนอกรายละเอียดของงบประมาณ ส่วนตัวเห็นว่าต่อให้ยึดข้อบังคับก็มีช่องให้พูดได้ แต่ต้องพูดในประเด็นและจุดยืนของตนเองเท่านั้น เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถ้าจะบอกว่ารัฐบาลยังไม่มีอำนาจ เพราะกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบ ไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ จึงไม่มีสิทธิ์เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เข้าสู่สภาฯ เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พูดถึงจุดยืนของตนเองแล้วก็ควรจบ ไม่ใช่ไล่เรียงประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบหรือการแถลงนโยบายของ ครม. อีก เพราะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นงบประมาณ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง