ถกแก้ รธน.60 ประเด็นสิทธิ-เสรีภาพ ภาค ปชช.ชี้ เป็นไปได้ยาก

การเมือง
17 ต.ค. 62
17:12
588
Logo Thai PBS
ถกแก้ รธน.60 ประเด็นสิทธิ-เสรีภาพ ภาค ปชช.ชี้ เป็นไปได้ยาก
ภาคประชาชนจัดเวทีระดมความเห็นแก้ไข รธน.60 ยอมรับ คาดหวังแก้ด้วยกลไกรัฐสภาเป็นไปได้ยาก เหตุ ส.ส.มุ่งแก้ประเด็นการเข้าสู่อำนาจ เมินให้ความสำคัญด้านสิทธิความเป็นมนุษย์ ปัญหาปากท้อง และการจัดสรรทรัพยากร

วันนี้ (17 ต.ค.2563) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดเวทีระดมความคิดเห็น “รัฐธรรมนูญ 60 กับสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิชุมชน การแก้ไขปัญหาปากท้องและความเป็นธรรม"


นายจำนงค์ หนูพันธ์ จากพีมูฟ ระบุถึงความจำเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ภาคประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญที่กินได้ ประชาชนเข้าถึง และได้ประโยชน์ ซึ่งพีมูฟพยายามเรียกร้องเรื่องนี้มาในหลายเวที ที่ต้องการให้ปรับแก้รัฐธรรมนูญ เน้นประเด็นกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ตอบโจทย์นโยบายที่ดิน การคุ้มครองพื้นที่เกษตร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม นโยบายด้านการจัดการภัยพิบัติ การคุ้มครองสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิคนไร้สถานะ และนโยบายรัฐสวัสดิการ

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชี้ให้เห็นมุมมองการแก้รัฐธรรมนูญ พบว่า ขณะนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ การแก้ในประเด็นสิทธิเสรีภาพประชาชน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องยาก หากมองในรายละเอียด เช่น การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการแม้ถูกระบุไว้ครบในรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีเงื่อนไขสำหรับผู้ยากไร้ เรื่องสิทธิชุมชนก็ถูกระบุไว้ แต่ในรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้พูดถึงสิทธิการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้มา 2 ปี แต่ยังไม่เห็นหลาย ๆ กลไกทำงาน ขณะเดียวกันหลายเรื่องก็พบว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญได้วางกับดักเอาไว้ ทั้งด้านสิทธิชุมชน ที่ดิน สิ่งแวดล้อม การศึกษา ทุกอย่างเปิดช่องไว้หมด เพื่อให้รัฐบาลสามารถหยิบยกมาปรับเปลี่ยน แก้ไขได้ทันที


อีกประเด็นของการแก้รัฐธรรมนูญ คือ เรื่องการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งนักการเมือง และพรรคการเมืองต่าง ๆ พยายามเรียกร้องมาโดยตลอด เช่น การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่มา ส.ว. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการให้อำนาจที่มากขึ้นขององค์กรอิสระ แต่ประเด็นเหล่านี้อาจทำได้ยาก เพราะมองว่า การได้มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกสั่นคลอนอำนาจของ คสช. ดังนั้น การจะถูกปรับแก้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยังไม่มีประสบการณ์ ว่าจะหาฉันทามติในประเด็นสิทธิเสรีภาพอย่างไร

ไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน เพราะแทบทุกพรรคก็เน้นไปที่เรื่องการเข้าสู่อำนาจ เรื่องที่มา ส.ว. แต่ในการจัดเวทีแสดงความเห็น ก็จะพูดว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปากท้อง สิทธิเสรีภาพ แต่ในสถานการณ์แบบนี้คงทำได้ยาก เพราะหากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย พบว่า แก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 22 ครั้ง ทุกครั้ง แก้เพื่อการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองทั้งหมด ไม่เคยพูดถึงโหมดสิทธิเสรีภาพเลย 

น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) เห็นว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมให้ชาวบ้านเขียนและออกแบบกฎหมายได้เอง จึงควรใช้โอกาสการที่สังคมกำลังพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้รัฐธรรมนูญกลับมาสร้างพลังให้ประชาชนแข็งแรง สามารถคิดและออกกติกากันเอง ทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมมีข้อเสนอ หากจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ต้องให้เกิดฉันทามติ ปรองดอง สมานฉันท์ ยุติการสืบทอดอำนาจ คสช. และทำให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็ง รวมถึงการปฏิรูปประเทศ และเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกแถลงอย่างทั่วถึง

ปิดท้ายที่ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากเครือข่าย People Go ยอมรับว่า การแก้รัฐธรรมนูญ โดยอาศัยแค่การพูดคุย เสวนา หรืออาศัยกลไกในรัฐสภา เป็นไปได้ยาก หากประชาชนไม่ออกเคลื่อนไหวบนท้องถนน และหากจะแก้ ก็ต้องไม่ลืมที่จะต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศทั้งหมดด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผบ.ทบ.ไม่ขวางแก้รัฐธรรมนูญ ขู่อย่าแตะมาตรา 1

ประธานสภาฯ แนะฝ่ายค้านระวังข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ

"หม่อมอุ๋ย" ซัดวัฒนธรรมทหารทำประเทศเสียหาย ต้องแก้ รธน.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง