เตือน 22 จังหวัด เสี่ยง! ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

ภัยพิบัติ
21 ต.ค. 62
19:03
10,181
Logo Thai PBS
เตือน 22 จังหวัด เสี่ยง! ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
ฤดูแล้งปีหน้า เกือบทุกภาคของไทย จะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พบน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำหลายแห่งเพื่อผลิตประปามีน้ำไม่มาก ส่งผล กปภ. 42 สาขา ใน 22 จังหวัดอาจขาดแคลนน้ำ ภาครัฐ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะอาจแล้งยาว ๆ ไปอีก 7-8 เดือน ก่อนเข้าฤดูฝนปีหน้า

วันนี้ (21 ต.ค.2562) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า พื้นที่เสี่ยงที่มีการคาดการณ์ อาจขาดแคลนน้ำเพื่อการอุุปโภคและบริโภค ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ปี 2562/2563 ดังนี้


ภาคเหนือ

7 จังหวัด 19 อำเภอ การประปาส่วนภูมิภาค 12 สาขาที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ สาขาฝางหน่วยบริการแม่อาย, จ.ลำปาง สาขาลำปางหน่วยบริการแม่เมาะ, จ.พะเยา สาขาพะเยา สาขาจุน, จ.เชียงราย สาขาเทิงหน่วยบริหารพญาเม็งราย, จ.นครสวรรค์ สาขาท่าตะโก สาขาลาดยาว, จ.พิจิตร สาขาตะพานหินหน่วยบริหารทับคล้อ, จ.เพชรบูรณ์ สาขาเพชรบูรณ์ สาขาชนแดน สาขาหนองไผ่ และสาขาวิเชียรบุรี

ภาคอีสาน

10 จังหวัด 32 อำเภอ โดยมีการประปาส่วนภูมิภาค 25 สาขากระทบ ได้แก่ จ.นครราชสีมา สาขาครบุรี สาขาโชคชัย สาขานครราชสีมา สาขาด่านขุนทด สาขาโนนสูง และสาขาพิมาย


จ.ร้อยเอ็ด สาขาสุวรรณภูมิ, จ.มหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิ และสาขามหาสารคาม, จ.ชัยภูมิ สาขาหนองบัวแดง สาขาภูเขียว สาขาแก้งคร้อ และสาขาบำเหน็จณรงค์, จ.ขอนแก่น สาขาขอนแก่น สาขาชุมแพ สาขาเมืองพล และสาขาหนองเรือหน่วยบริการภูเวียง, จ.อุดรธานี สาขาอุดรธานี และสาขาสว่างแดนดินหน่วยบริหารหนองหาน, จ.หนองบัวลำภู สาขาหนองบัวลำภูมิ, จ.เลย สาขาเลย สาขาด่านซ้าย, จ.สกลนคร สาขาสว่างแดนดิน และ จ.บุรีรัมย์ สาขาบุรีรัมย์ และสาขานางรอง หน่วยบริการหนองกี่

ภาคตะวันออก

พบมี จ.ชลบุรี 1 จังหวัด 1 อำเภอ 1 สาขา ได้แก่สาขาพัทยา (พิเศษ)

 

ภาคใต้

ทั้งหมด 4 จังหวัด 4 อำเภอ 4 สาขาที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จ.พังงา สาขาตะกั่วป่า, จ.ภูเก็ต สาขาภูเก็ต, จ.นครศรีธรรมราช สาขาปากพนัง และ จ.สุราษฎร์ธานี สาขาเกาะพงัน

 

ภาครัฐเตรียมแผนรับมือ "แล้ง"


ขณะนี้ ภาครัฐมีมาตรการรับมือขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค จะมีการติดตั้งสูบพร้อมวางท่อเพื่อเข้าสู่ระบบผลิต การขุดลอกร่องชักน้ำดิบ ขุดลอกดินบริเวณท่อทางดูดและขยายร่องน้ำให้น้ำไหลมายังจุดสูบ การเจาะบ่อบาดาล การขยายสระพักน้ำดิบ การซื้อน้ำจากเอกชน หรือแหล่งอื่น ๆ เพื่อบรรเทาภัยแล้ง

ด้าน กรมชลประทาน ชี้แจงว่า ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ อาจต้องประหยัดน้ำเพราะปริมาณฝนจะลดลง ขณะที่ปัจจุบันน้ำในเขื่อนใหญ่หลายแห่งมีน้ำไม่มากพอ เนื่องจากฝนตกใต้เขื่อนเป็นส่วนใหญ่ ขอให้ประชาชนร่วมกันประหยัดน้ำ

ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ปีนี้มีแนวโน้มอาจอากาศร้อนคล้ายปีที่ผ่านมา โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ มีสถานะเป็นปกติแล้ว และจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 แต่เราก็ต้องรออีก 7-8 เดือนก่อนที่จะเข้าฤดูฝน ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมก่อนจะเริ่มมีฝนตกอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

4 เขื่อนหลักน้ำน้อย "ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา" เตรียมงดปลูกข้าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง