ผู้ชนะศึกแบนสารเคมี ?

Logo Thai PBS
ผู้ชนะศึกแบนสารเคมี ?
มติจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจเป็นไปตามความคาดหมายกับการลงมติยกเลิกใช้ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” แต่นี่คือชัยชนะของเกษตรกรและผู้บริโภค หรือกลุ่มทุนและพรรคภูมิใจไทย

เดินหน้าออกตัวแรงอยู่ฝ่ายเดียว สำหรับภูมิใจไทย กับการยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิด “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำชับข้าราชการในสังกัดซึ่งมีชื่อเข้าประชุม ต้องลงมติตามที่กำหนด

ช่วงหนึ่งของงาน Kick Off แบน 3 สารเคมี หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุ

3 เสียง (อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการ อย.) รู้อยู่แล้ว แต่กระทรวงเกษตรฯ (ชี้ไปที่มนัญญา) ท่านเป็นแค่ช่วยฯ แต่ที่ท่านดูแลอยู่ก็โหวตอยู่แล้ว กระทรวงคมนาคม (รมว.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ก็มี 2 เสียง

ทั้งที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานกำกับ และ รมว.เกษตรฯ มาจากพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งที่ยังมีกรรมการจากพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งที่ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

แต่ทั้งหมดกลับสงวนท่าที บ้างก็ตอบรับว่าไม่สนับสนุนการใช้สารพิษ

ดั่งกระแสคลื่นยักษ์ที่ไม่มีใครอยากเข้าขวางเพราะเกรงเจ็บตัวหนัก ยกเว้นกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ผู้เสียผลประโยชน์” และในจำนวนนี้ คือเกษตรกร

ปัจจุบัน ทั้ง 3 สาร ถูกกำหนดการใช้ ทั้งชนิดพืช คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ปาล์ม ยางพารา ผักและผลไม้ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูก
ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งคนปลูก คนขายต้องไปอบรม ก่อนที่ รมช.เกษตรฯ จะสั่งยกเลิกโครงการอบรมนี้ เพื่อห้ามใช้อย่างถาวร เสียหายทั้งค่าใช้จ่ายไปกลับ เสียโอกาสทำมาหากิน และเมื่อคำตอบเรื่องสิ่งทดแทน 3 สาร ไม่เป็นที่พอใจ คลื่นยักษ์อีกลูกก็ก่อตัวขึ้น

กลายเป็น 2 ขั้วสุดโต่งที่มีข้อมูลคนละชุด ความเชื่อคนละอย่าง และชี้ฝั่งตรงข้ามว่ามีวาระซ่อนเร้น

ฝ่ายสนับสนุนการแบน มองผู้เสียประโยชน์คือนายทุนหน้าเลือด กอบโกยบนความเจ็บป่วยและความตายของประชาชน
ฝ่ายค้านการแบน มองเป็นการเปิดทางสารตัวใหม่ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น และข้อสังเกตเรื่องผักนำเข้าที่ไม่ผ่านการตรวจหาสารเคมีปนเปื้อน

ต้นทางของพืชผลต้องสงสัยก็คือผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “พาราควอต” กับ “กลูโฟซิเนต แอมโมเนียม”
เพราะตัวแรกได้ผลสูงต้นทุนต่ำ จึงกลายเป็นข้อสังเกตว่าต้นทางเตรียมฟันกำไรเพิ่ม ด้วยการดึงสินค้าถูกออกจากตลาด จนเกิดภาวะจำยอมซื้อของราคาแพงกว่า

แม้ผู้ออกตัวแรงจะยอมรับหากจำเป็นต้องใช้ อนาคตจะจ่ายน้อยลงตามอุปสงค์อุปทาน แต่ต้องไม่ลืมว่าต้นทางคือผู้ผูกขาด ไม่ซื้อเขา เราก็ไม่มีใช้ แม้เครือข่ายมากกว่า 680 องค์กร ที่ไม่ระบุชัดว่ามีใครบ้าง จะปฏิเสธสารเคมีทดแทนตัวนี้ และเชื่อถือหลักเกษตรอินทรีย์
แต่อีกฝ่ายก็ยังส่ายหัว ว่าเป็นไปไม่ได้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม

หากนี่คือโลกจริง กลุ่มทุนใช้กลยุทธ์ปรับตัว ย่อมไม่ใช่ผู้แพ้ศึก เพราะยังมีสินค้าและตลาดใหม่อีกมากมายแล้ว

หากนี่คือโลกจริง ผู้บริโภคและเกษตรกร ก็ย่อมไม่ใช่ผู้ชนะศึก ได้ปลูกและกินพืชผักปลอดภัย

หากนี่คือโลกจริง คนซื้อลำบาก เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อน้อย เงินในกระเป๋ามีจำกัด ไปซื้อผักนำเข้าราคาถูกก็ใช่จะปลอดภัย

หากนี่คือโลกจริง เกษตรกรก็ไม่ต่าง เจอศัตรูพืชและภัยพิบัติ ลงทุนลงแรง ถ้าพลาดก็ขาดทุน, ติดหนี้และหมดตัว

หากนี่คือโลกจริง ไม่ใช่เป็นเกมที่กดรีเซ็ตลงแปลงปลูกใหม่ง่าย ๆ


หากนี่คือโลกจริง ไม่ใช่ดินแดนในฝัน อย่างที่ถูกนิยามว่า โลกสวยของ “เกษตรโซเชียล”

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง