ข่าวดี! วาฬบรูด้า "แม่วันดี" ออกลูกเพิ่มอีก 1 ตัว

สิ่งแวดล้อม
24 ต.ค. 62
14:05
1,314
Logo Thai PBS
ข่าวดี! วาฬบรูด้า "แม่วันดี" ออกลูกเพิ่มอีก 1 ตัว
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยข่าวดีสุด พบวาฬบรูด้าเพิ่มจาก "แม่วันดี" กับลูกน้อยตัวใหม่อีก 1 ตัวรวมมีลูก 3 ตัวคือเจ้าวันชัย และเจ้าวันใหม่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แจกคู่มือให้กับเรือพานักท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าอย่างถูกวิธี

วันนี้( 23 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  ออกเรือสำรวจและติดตามสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ บริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี พบวาฬบรูด้าคู่แม่ลูก เข้ามาอาศัยหากิน และเลี้ยงลูก

จากการตรวจสอบอัตลักษณ์จากภาพถ่าย (Photo ID) คือ แม่วันดี และลูกน้อยตัวใหม่ โดยลูกตัวนี้เป็นลูกตัวที่ 3 ของแม่วันดี ซึ่งตัวลูกมีเหาฉลาม เกาะอยู่บริเวณผิวหนัง ทำให้พบพฤติกรรมกระโดดอยู่บ่อยครั้ง และครีบหลังของแม่วันดี มีรอยเว้ามากขึ้น จุดที่พบเเม่วันดีเเละลูกบริเวณชายฝั่งทะเล ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ห่างจากชายฝั่งประมาณ 10 กม.

สำหรับแม่วันดี เป็นวาฬบรูด้าที่มีการตั้งชื่อตามอัตลักษณ์ไว้ในลำดับที่ 11 เนื่องจากมีครีบหลังโค้งเว้า รูปสามเหลี่ยมปลายมน ส่วนปาก มีรอยด่างขาวปลายปาก และลายขอบปากด้านซ้ายและขวา โโยแม่วันดีหากินในทะเลอ่าวไทย มีลูก 2 ตัวชื่อเจ้าวันชัย เป็นวาฬที่มีลักษณะครีบหลังสมบูรณ์ และใช้ลักษณะขอบปากในการจำแนก ส่วนเจ้าวันใหม่ เป็นลูกวาฬบรูด้าที่ครีบหลังมีรอยแหว่งตรงกลาง ลำตัวมีแผลบนลำตัวด้านขวาหน้าครีบหลัง และปากมีลายขอบปากด้านซ้าย 

ภาพ :กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ :กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ :กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้ศึกษาจำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้าโดยการใช้ภาพถ่าย (Photo Identification, Photo-ID) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551- ปัจจุบัน อาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิบริเวณต่างๆ ตามลำตัว สามารถจำแนกความแตกต่างของปลาวาฬบรูด้าได้มากถึง 59 ตัวเช่น เจ้าบางแสน เจ้าส้มตำ  เจ้าสายลม เจ้าท่าฉลอม 

วาฬบรูด้า บางตัวมีการเคลื่อนย้ายตามอาหารไปทางด้านล่างของอ่าวไทย เช่นที่เคยพบบริเวณบ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณที่พบวาฬบรูด้านั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลตั้งแต่ 4-30 กิโลเมตร สามารถพบได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ช่วงเวลาที่พบบ่อยอยู่ระหว่างเดือนเม.ย.- ก.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีปลากะตัก และกุ้งเคยอุดมสมบูรณ์

 

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หลังจากมีข่าวการชมวาฬไม่เหมาะสมในบางกลุ่มที่พื้นที่จ.เพชรบุรี เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทช.ที่ 3 (เพชรบุรี) นำเรือ ทช.110 ออกปฏิบัติภารกิจเฝ้าระวัง และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการชมวาฬบรูด้าอย่างถูกวิธี ให้กับนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวบริเวณแนวชายฝั่ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติเป็นอย่างดี

 

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"สุรศักดิ์ ทองสุกดี" คนเฝ้าวาฬบรูด้า

“วราวุธ” ปลุกจิตสำนึกแก๊งเจ็ตสกีขับก่อกวนวาฬบรูด้า

กลุ่มขี่เจ็ตสกีโต้ทำตามกฎดูวาฬบรูด้า ยืนยันไม่ได้ทำผิด

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง