Thailand Web Stat
ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“รฟท.-ซีพี” ลงนามไฮสปีด 3 สนามบิน

เศรษฐกิจ
24 ต.ค. 62
11:03
1,620
Logo Thai PBS
“รฟท.-ซีพี” ลงนามไฮสปีด 3 สนามบิน
หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ปีตั้งแต่เริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วันนี้ รฟท. และซีพีได้ลงนามสัญญาร่วมกันแล้ว ผู้บริหารกลุ่มซีพีฯ ยืนยันว่าจะลงพื้นที่ก่อสร้างภายใน 1 ปี หลังการรถไฟฯ ออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง พร้อมเตรียมหาพันธมิตรระดมทุนเพิ่ม

วันนี้ (24 ต.ค.2562) พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มCPH) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เปิดเผยว่า  บริษัทฯเตรียมการไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพื่อร่วมประมูลโครงการนี้ หลังประมูลประมาณ 11 เดือนในการทำงาน มีการเจรจาอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของกรอบสัญญาแนบท้ายมีกำหนดเวลาชัดเจน ยืนยันว่าจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างภายใน 12 เดือน หรือ ไม่เกิน 24 เดือน หลังจากที่การรถไฟฯ มีการออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) และแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นส่วนการก่อสร้างได้เร็วที่สุดเนื่องจากได้เตรียมรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้แล้ว แต่ส่วนดอนเมือง-พญาไท และพื้นที่สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา น่าจะเป็นส่วนที่มอบพื้นที่ยากที่สุด 

 

ส่วนการแบ่งงานภายในกลุ่มพันธมิตร ยืนยันว่า พาร์ทเนอร์ถือว่ามีความเข้มแข็งในแต่ละด้าน โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบมจ. ช.การช่าง มีความสามารถในการก่อสร้างด้านโยธา China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เชี่ยวชาญเรื่องระบบรางรถไฟความเร็วสูง และการบริหารงานเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง

สำหรับตัวเลขสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังไม่สามารถบอกได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหม่นั้น หากทางกลุ่มพันธมิตรต้องการระดมทุนก็อาจเป็นการร่วมทุนไปตามระยะการก่อสร้าง ซึ่งยังมีอีกหลายจุด ที่จะทำให้มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนได้ โดยจะต้องเสนอขอให้ รฟท. เป็นผู้พิจารณาก่อน

 

 

นายศุภชัย กล่าวต่ออีกว่า ด้านเงินกู้นั้น จะมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB)  รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ทั้งนี้ หากเป็นการกู้ในประเทศจะคิดเป็นค่าเงินบาท แต่หากนำเข้าจากต่างประเทศจะคิดเป็นดอลล่าห์สหรัฐฯ สำหรับในโครงสร้างงานโยธาอยู่ที่ประมาณ 65-70% ขณะที่ งานระบบเทคโนโลยีอยู่ที่ประมาณ 30-35% นอกจากนี้ ในส่วนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไกล แต่ยอมรับว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานมีการพิจารณาอยู่แล้ว เนื่องจากอาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีของโครงการ

ขณะที่การพัฒนาพื้นที่มักกะสันที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพื้นที่สีเขียวหรือปอดคนกรุงเทพฯ นั้น นายศุภชัย ระบุว่า ได้เตรียมแผนที่จะเสนอคณะกรรมการฯ โดยมีแผนพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะออกแบบให้สอดคล้องกับนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาพื้นที่มักกะสันประมาณ 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท

มีความเชื่อมั่นว่า ทำให้สำเร็จได้ คณะกรรมการเข้มงวดมาก การเจรจาตรงไปตรงมา ใช้คำว่า "หิน" เป็นโครงการแรกที่เป็นพีพีพี ทีโออาร์พีพีพี และโครงการไซส์ใหญ่กว่าที่เคยเห็น ซึ่งมีพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศเข้ามาดูด้วย หวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องโครงการรถไฟความเร็วสูงอื่นๆ ขณะที่ในการปฏิบัติต้องการความยืดหยุ่นระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวยอมรับว่า การจัดการเรื่องสาธารณูปโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีโดยเฉพาะท่อส่งน้ำมันไม่มีปัญหา แม้ว่าในช่วงของพญาไท-ดอนเมืองมีปัญหาจริง แต่จะได้รับการดำเนินการแก้ไขตั้งแต่แรก

 

ส่วนในการมอบพื้นที่นั้นสามารถทยอยมอบพื้นที่พร้อมการก่อสร้างให้ได้หากพื้นที่ในช่วงใดมีปัญหาจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัญญาระบุว่าจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ไม่เกิน 2 ปี โดยทางการรถไฟฯจะพยายามเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วขึ้นส่วนปัญหาพื้นที่เวนคืนนั้นคาดว่าจะมีการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในครั้งหน้า

สำหรับประเด็นที่ทางกระทรวงคมนาคมมีบนโยบาย Thai first ที่จะมีการนำวัสดุภายในประเทศมาใช้นั้น มองว่าผู้รับเหมาไทยมีความสามารถที่จะสามารถออกแบบและใช้วัสดุภายในประเทศไทยในการก่อสร้างรวมถึงมีผู้ประกอบการของไทยหลายรายสามารถดำเนินการผลิตได้ แต่สิ่งที่ไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้เองคือเทคโนโลยีการควบคุมการเดินรถไฟความเร็วสูง

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Failed to load player resources

Please refresh the page to try again.

ERROR_BYTEARK_PLAYER_REACT_100001

00:00

00:00

ให้คะแนนการอ่านข่าวนี้