สหรัฐฯ แทรกแซงไทย ส่งหนังสือถึงนายกฯ ค้านแบนไกลโฟเซต

สิ่งแวดล้อม
24 ต.ค. 62
19:18
6,276
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ แทรกแซงไทย ส่งหนังสือถึงนายกฯ ค้านแบนไกลโฟเซต
สหรัฐอเมริกาทำหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านการแบนสารไกลโฟเซต อ้างกระทบต้นทุนเกษตรกร ขณะที่ไบโอไทยระบุว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ แทรกแซงนโยบายสารเคมีของไทย เพราะเชื่อว่าบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ในเรื่องนี้

วันนี้ (23 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแบบสารเคมี 3 ชนิด โดยมีเนื้อหาว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย ในการห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิด

สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย จึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซตเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์กําจัดวัชพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลก

หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ได้ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่น จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต โดยคาดการณ์หากมีการห้ามใช้ เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนที่สูงขึ้น หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นและจะมีผลกระทบต่อการนำเข้าคือ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ลและองุ่น รวมไปถึงผลกระทบที่ตามมาของผู้ผลิตอาหาร

 

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่า ต้องศึกษารอบด้านในการหาสารทดแทนเข้ามาใช้ เพราะกระทบหลายส่วน การทำงานเมื่อเป็นปัญหาการเมืองมักมีปัญหาตามมา

ขณะเฟชบุ๊กไบโอไทย ระบุว่า ประเทศไทยต้องยืนหยัดต่อสู้กับการแทรกแซงกิจการภายในจากรัฐบาลต่างประเทศ และบรรดาบริษัทข้ามชาติ เพราะไกลโฟเซตมีบริษัทมอนซานโต้เป็นผู้ครอบครองตลาด การแทรกแซงของสหรัฐฯ ในกิจการภายในประเทศชี้ให้เห็นว่า การแบนพาราควอตและไกลโฟเซตนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยควรตอบโต้เฉกเช่นรัฐบาลเวียดนามว่า นี่เป็นกิจการภายในของประเทศไทยที่การแบนสารพิษนี้ เป็นไปเพื่อคุ้มครองเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นไปตามกฎหมายของไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง