ตรวจมาตรการรองรับ หลังมติแบน 3 สารเคมีเกษตร

สิ่งแวดล้อม
24 ต.ค. 62
20:03
629
Logo Thai PBS
ตรวจมาตรการรองรับ หลังมติแบน 3 สารเคมีเกษตร
จับตามาตรการภาครัฐและฝ่ายการเมือง หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนสารเคมี ว่าจะลดเสียงกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร ได้หรือไม่

หลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จะยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดภายในวันที่ 1 ธันวาคมที่จะถึงนี้ คำถามที่ดังขึ้นมาทันที คือ มาตรการในการรองรับและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ที่ยังใช้สารเคมีเหล่านี้อยู่จะทำอย่างไร ทำให้เจ้ากระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างตบเท้าออกมาแสดงท่าทีและมาตรการที่ตนจะขับเคลื่อนต่อจากนี้

 

 

เริ่มที่หน่วยงานหลักของเรื่อง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ ประกาศเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดมาตรการในการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

 

ขณะที่นางมนัญญา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ระบุว่า พร้อมรับฟังความเห็นและใช้กลไกของกระทรวงช่วยเหลือเกษตรกรทุกกลุ่ม โดยจะเริ่มรับฟังเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีที่มีกำหนดลงพื้นที่วันที่ 25 ตุลาคมนี้ รวมทั้งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ระเบียบและเปิดช่องให้สารชีวภัณฑ์และวิธีทางเลือกต่าง ๆ ในการกำจัดวัชพืช ที่ไม่ใช่สารเคมีเกษตร เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

เจ้ากระทรวงอีกคนที่ประกาศชัดเจนคือ นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พร้อมร่วมมือกับทุกกระทรวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะเดินหน้าดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเกษตรอย่างเต็มที่

ฟากฝั่งของกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้ากระทรวงอย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการยกเลิกสารเคมี โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา

 

 

ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมทำมาตรฐานผลกระทบสารเคมีเกษตรที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เสนอต่อ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อยกระดับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตร

ด้านกลไกรัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางความคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตร สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การจะให้เกษตรกรเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำเกษตรไม่ใช้สารเคมี ต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อหนุนเสริมให้ชัดเจนทั้งระบบ จึงสามารถลด ละ เลิกใช้สารเคมีเกษตร ไปสู่เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรกรรมแบบยั่งยืนได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้แบนสารเคมี แม้ด้านหนึ่งจะได้เสียงชื่นชมจากฝั่งผู้บริโภคและคนทำเกษตรอินทรีย์ที่เห็นว่าฝ่ายการเมืองให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม และเดินตามทิศทางใหญ่ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

แต่อีกเสียงที่ดังขึ้นมาไม่แพ้กันคือ เสียงความกังวลและคำถามถึงความรับผิดชอบเยียวยาผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งหากฝ่ายการเมืองเดินหน้าตามมาตรการที่ประกาศไว้ และลงไปฟังเสียงเกษตรกรเพื่อให้มาตรการที่กำหนดครอบคลุมปัญหาเกษตรแต่ละกลุ่มในทุกมิติ รวมทั้งทำแผนรูปธรรมและขั้นตอนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน อาจทำให้ในที่สุดก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรให้ก้าวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง