รู้จัก "เท็ด แมคคินนี" เบื้องหลังสหรัฐฯ ค้านไทยแบน "ไกลโฟเซต"

สิ่งแวดล้อม
25 ต.ค. 62
17:18
14,532
Logo Thai PBS
รู้จัก "เท็ด แมคคินนี" เบื้องหลังสหรัฐฯ ค้านไทยแบน "ไกลโฟเซต"
ไบโอไทย ชี้เหตุสหรัฐฯ ออกหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีค้านแบนการใช้ "ไกลโฟเซต" หวั่นกระทบบรรษัทต่างชาติทีมีอิทธิพลต่อรัฐบาลฯ สหรัฐฯ พร้อมเปิดเผยว่า "เท็ด แมคคินี" ผู้ลงนามในหนังสือเคยถูกตรวจสอบว่ามีความใกล้ชิดกับบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนต้องลาออกจากตำแหน่ง

จากกรณีที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ออกหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านยกเลิกการใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารเคมี ทางการเกษตร ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกใช้

ล่าสุด วันนี้ (25 ต.ค.2562) เฟซบุ๊ก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) หรือไบโอไทย ได้เผยแพร่ข้อความระบุว่า ผู้ลงนามจดหมายถึงรัฐบาลไทยคัดค้านการแบนไกลโฟเซต คือ "เท็ด แมคคินนี" (Ted McKinny) ตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือ Under Secretary of Agriculture for Trade and Foreign Agricultural Affairs หรือ ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ

ในสหรัฐอเมริกา ตำแหน่ง Under Secretary นี้เป็นตำแหน่งทางการเมือง มีระดับต่ำกว่ารัฐมนตรีช่วย (Deputy Secretary) ไบโอไทยจึงใช้คำว่า "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" โดยส่วนใหญ่จะได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้ากิจการระดับกรม (sub department)ของกระทรวงต่างๆ ในแง่นี้รัฐบาลไทยจึงไม่ควรให้ความสำคัญในการตอบโต้โดยให้รัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจง

สำหรับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์วันนี้ว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ตอบจดหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว (อ่านเพิ่มเติม : นายกฯไม่ตอบกรณีสหรัฐฯ ค้านไทยแบน 1 ใน 3 สารเคมี)

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของไบโอไทย ควรใช้หน่วยงานปฏิบัติเป็นผู้ตอบจดหมายดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ในกรณีเวียดนาม ผู้ตอบโต้ต่อรัฐบาลสหรัฐ เป็นเพียงระดับอธิบดีหรือหัวหน้าด้านป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม (Head of the Plant Protection Department, Ministry of Agriculture and Rural Development) เท่านั้น

 
จากประวัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรี "เท็ด แมคคินนี" ทำงานมาอย่างยาวนานถึง 19 ปี กับบริษัทดาวอะโกรไซแอนส์ บริษัทผู้ผลิตและเจ้าของผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลง "คลอร์ไพริฟอส" ซึ่งในสมัยที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ได้เตรียมยกเลิกการใช้ แต่เมื่อทรัมป์ แต่งตั้ง สก็อต พรุตต์ เข้ามาเป็นประธาน EPA เขาได้สั่งเลื่อนการแบนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเริ่มตรวจสอบว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ จนในที่สุดพรุตต์ ต้องตัดสินใจลาออกไป

ศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้ EPA ยกเลิกใช้คลอร์ไพริฟอสใน 60 วัน ขณะนี้กระบวนการอยู่ในขั้นอุทธรณ์ ในความเห็นของเรา จดหมายของแมคคินนี ไม่ได้มีความหมายปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอเมริกันแต่ประการใด แต่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลักมากกว่า

ทั้งนี้ การอ้างเรื่องผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในการส่งออกถั่วเหลือง และข้าวสาลี น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างในการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทในสมาคม CropLife ที่ประกอบกิจการค้าไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นสำคัญ

ทำไมสหรัฐฯ ต้องค้านไทยแบนไกลโฟเซต

นอกเหนือจากเหตุผลที่ไบโอไทยวิเคราะห์การที่รัฐบาลสหรัฐฯ คัดค้านการแบนไกลโฟเซตว่า เกิดขึ้นเนื่องจากความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ไกลโฟเซตกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมของบริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ ซึ่งมีอิทธิพลสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว เนื้อหาในหนังสือของ USDA ที่ส่งมายังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 7 คนในรัฐบาล ยังระบุว่า การแบนไกลโฟเซตจะกระทบกับการส่งออกสินค้าสหรัฐฯ มายังประเทศไทย โดยระบุว่า จะกระทบกับการส่งออกข้าวสาลี ถั่วเหลือง และองุ่น เป็นต้น

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 นั้น ในข้อ 4 ระบุว่า "ข้อ 4 อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศนี้"


ดังนั้น การประกาศให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายอาจจะกระทบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐที่มีการใช้ไกลโฟเซตมายังประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมิได้แบนไกลโฟเซต และมีการใช้ไกลโฟเซตปริมาณมหาศาลเนื่องจากการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานราวด์อั๊พในสหรัฐฯ และผลการตรวจพบว่าถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์หลายชนิดปนเปื้อนไกลโฟเซตในระดับต่างๆ จนรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มค่า MRL ของไกลโฟเซตหลายเท่า เพื่อให้ระดับการตกค้างในผลผลิตไม่ผิดกฎหมายในสหรัฐฯ เอง

ในหนังสือของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐประมาณ 51,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐมีมูลค่า 73,194,348,000 บาท 

ในกรณีรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น เมื่อ EPA ประกาศแบนคาร์โบฟูราน หรือชื่อการค้าที่คนไทยรู้จักดี "ฟูราดาน" ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่คือบริษัทสหรัฐฯ FMC นั้น รัฐบาลสหรัฐฯ แม้จะยกเลิกค่า MRL สำหรับผลิตผล/ผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศของตน ซึ่งหมายถึงจะมีสารพิษดังกล่าวตกค้างในสินค้าไม่ได้ แต่ก็อนุญาตให้ผลผลิตนำเข้าที่ส่งจากต่างประเทศมายังสหรัฐฯ สามารถมีฟูราดานตกค้างได้ แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทสหรัฐฯ เอง ที่จะสามารถส่งคาร์โบฟูรานไปขายยังประเทศอื่นได้อย่างชอบธรรม แม้ประเทศตนจะแบนสารดังกล่าวแล้วก็ตาม


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้วก็ตาม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธ.ค.2562 แต่ตามบัญชีท้ายคำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 ในบัญชี 1 ยังมิได้รวมไกลโฟเซตอยู่ในรายชื่อแต่ประการใด ทั้งนี้ ผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ จึงยังมิได้เกิดขึ้นแต่ประการใด โดยไม่ต้องกล่าวถึงว่าที่ผ่านมาประเทศไทยแทบมิได้มีการตรวจสารพิษตกค้างในธัญพืชสำคัญ ทั้งข้าวสาลี และถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ เลยก็ตาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง