"การเรียนรู้ที่มีค่า" ถอดบทเรียนช่วยการศึกษาไทย

สังคม
25 ต.ค. 62
22:34
1,422
Logo Thai PBS
"การเรียนรู้ที่มีค่า" ถอดบทเรียนช่วยการศึกษาไทย
นักการศึกษาร่วมถอดบทเรียน "ผ่าทางตันการศึกษา" เปิดมุมมองผู้เชี่ยวชาญหลากอาชีพร่วมผ่าทางตัน "การเรียนรู้ที่มีค่า การศึกษาที่แตกต่าง" เชื่อ อิสระในการเรียนรู้ ช่วยสร้างปัญญา ปลูกฝังค่านิยมเคารพความแตกต่าง และเอาตัวรอดในยุคโลกป่วน

วันนี้ (25 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสครบรอบ 5 ปี การก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักการศึกษาจากหลายแวดวงร่วมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงานขับเคลื่อนการศึกษา ในงานสัมมนาวิชาการ "LSEd Symposium 2019" ภายใต้หัวข้อ "การเรียนรู้ที่มีค่า การศึกษาที่แตกต่าง" จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต


การเรียนรู้ที่มีค่าเป็นแบบไหน?

คือ คำถามชวนคิดจาก นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ส่งไปยัง นายเดชรัต สุขกําเนิด นางทิชา ณ นคร น.ส.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ รศ.วิลาสินี พิพิธกุล และ นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ที่มาร่วมให้มุมมอง วิสัยทัศน์ และจิตวิญญานในการขับเคลื่อนการศึกษาที่แตกต่าง


นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า การศึกษาที่มีค่า คือการเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งได้ถอดประสบการณ์กว่า 30 ปีในหน้าที่ครู ผสานกับประสบการณ์ความเป็นพ่อที่มีลูกในวัยเรียน ออกมาได้ว่า การเรียนรู้ที่มีความสุข คือ เรียนผ่านการลงมือ หรือ Active learning ที่ผู้เรียนได้ "4 เลือก" คือ เลือกประเด็นที่อยากเรียนเองได้, เลือกวิธีการเรียนรู้เองได้, เลือกผลลัพธ์การเรียนรู้เองได้ และเลือกวิธีประเมินผลลัพธ์เองได้ ซึ่งเขาใช้วิธีนี้สร้างพื้นที่การเรียนรู้กับลูกศิษย์ และลูก ๆ ของตัวเอง

พอเป็นลูกเราคนเดียวจะไม่ยาก แต่พอเป็นห้องเรียนใหญ่ มันสร้างแรงกดดัน เนื่องจากระบบการศึกษาของไทยยังเป็นแบบโปรแกรม ก็ต้องใช้ทฤษฎี 3 ข้อที่ลูกชายบอกว่าเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ของเขา คือ เลือกประเด็นและวิธีเรียนเอง ตอบโจทย์ลูกค้าในโลกปัจจุบัน และสร้างความสมดุลระหว่างตัวฉันและไม่ใช่ตัวฉัน

ปักหมุด ‘สื่อ’ ขับเคลื่อนการเรียนรู้สู่ ‘การเปลี่ยนแปลง’

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS ระบุว่า บทบาทสื่อสาธารณะต้องเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันการศึกษาไทยกว่าร้อยละ 45 คือ การศึกษาในระบบ แต่ในยุค Disruptive ที่โลกมีความปั่นป่วน การสร้างการเรียนรู้และการรับรู้ ต้องไม่ใช่แค่เติมข้อมูลหนัก ๆ แต่ต้องเติมทักษะให้สังคมอยู่รอด

สื่อเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นเป้าหมายของ Thai PBS เราสร้างโจทย์ท้าทายในช่วง 4 ปี คือ ปี 2561-2562 ปลุกผู้คนให้ลุกมาสร้างการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง, ปี 2563 เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Active Citizen หรือ พลเมืองตื่นรู้ โดยคิดว่าเป็นภาระที่ต้องทำร่วมกัน และปี 2564 ความเป็นสื่อแบบแพลตฟอร์มจะหมดไป แต่กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อทุกคน

 


นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและครอบครัว ไม่ต้องการเห็นเด็กคนไหนเป็น ‘ผู้แพ้’ 
นี่คือสิ่งที่ นางทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ของเด็ก ๆ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก สะท้อนในเวทีดังกล่าว เธอบุกเบิกแนวทางดูแลเยาวชนผู้ก้าวพลาดและต้องคดีด้วยวิธีคิดใหม่ คือ ไม่คุมขัง แต่สร้างความเข้าใจและให้อิสระในการแสดงออก เพื่อปลุกจิตสำนึกด้านดีของพวกเขาให้กลับมามีพลัง พบว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทำให้ผู้ใหญ่รับรู้ถึงตัวตนและความเป็นมนุษย์ของเด็ก

ต้องไม่ทำให้เด็กคนไหนรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ แต่ทำให้เขาเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ ต้องทำให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้เป็นที่ปลอดภัย ไม่ใช่ทำให้เด็กเป็นแค่คนเชื่อง ๆ สั่งซ้ายหันขวาหัน นี่คือการศึกษาที่เราอยากเห็น

 

โรงเรียนที่เคารพความเป็นมนุษย์ของเด็ก เด็กเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

น.ส.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ไม่มีเด็กคนไหนเหมือนกัน การเรียนรู้ที่มีค่าต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังสร้างการศึกษาที่เคารพความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก และสอนให้เด็กเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้คนรอบตัว

ในยุคที่ความรู้เปลี่ยนตลอด การสร้างทักษะจึงสำคัญ การเรียนรู้ที่มีคุณค่า คือ การพาคนออกมาหาความหมายของชีวิตตัวเอง ทำยังไงให้เขาเจอความรักในการเรียนรู้ เมื่อคนรักที่จะทำอะไร เขาจะทำสิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องมีใครสั่งหรือบอก นี่คือโจทย์อันหนึ่งของโรงเรียน

นักคิดนักเขียนเชื่อ ‘ปัญญา’ สำคัญไม่แพ้ ‘ความรู้’


นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม” ที่คลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ สะท้อนความห่วงใยไปยังหัวใจของผู้เรียนที่เขาสัมผัสได้ถึงความกดดันในชีวิต หลายครั้งเขาได้เป็นที่ระบายความทุกข์ให้กับเยาวชนจากความคาดหวังของตัวเอง ผู้ปกครอง และครู ในระบบการศึกษาที่เชิดชูหรือให้คุณค่าแบบเดียว เขาเลยมองว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ มีปัญหาด้านจิตใจและโรคซึมเศร้ามากขึ้น เขาให้บทบาทไปที่ครูได้ทำหน้าที่มากกว่าเป็นผู้ให้ความรู้ แต่อาจจะต้องดูแลหัวใจให้เด็กด้วย

เขาแยกการเรียนรู้ในชีวิตออกเป็น 2 อย่าง 1 คือความรู้ 2 คือปัญญา เขาเชื่อว่าคนมีความรู้ท่วมหัวหลายคน อาจจะมีปัญญาน้อยนิดก็ได้ ในขณะที่บางคนไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชิงวิชาการมาก แต่มีปัญญาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในโลกใบนี้ได้อย่างสันติ

แน่นอนว่าความรู้ที่เราสอนกันมันสำคัญอยู่แล้ว แต่คำถามก็คือ จะทำยังไงให้ระบบการศึกษาของเราทำให้ผู้เรียนมีปัญญามากขึ้น

 


เวที "การเรียนรู้ที่มีค่า การศึกษาที่แตกต่าง" เป็นความพยายามของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีด้านการศึกษา ที่ต้องการฉายภาพการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยเปิดพื้นที่กลางในการนำเสนอแนวคิด นวัตกรรม และเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายไปจากระบบการศึกษากระแสหลักที่หลายคนคุ้นเคย ระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค.2562

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง