"กาชาด" ชวนบริจาคสเต็มเซลล์ ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเลือดถาวร

สังคม
29 ต.ค. 62
11:36
3,776
Logo Thai PBS
"กาชาด" ชวนบริจาคสเต็มเซลล์ ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเลือดถาวร
หากเคยกรอกข้อมูลการบริจาคโลหิต อาจเคยเห็นช่อง "บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต" หรือ Stem Cell ซึ่งหากตรงกับผู้ป่วยโรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ จะช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วย "สภากาชาดไทย" ระบุ มีผู้ป่วยรอรับบริจาคนับพันคน
โอกาสที่จะพบ  Stem Cell ที่มีเนื้อเยื่อตรงกัน มีเพียง 1 ใน 10,000 คน  และมีเพียงร้อยละ 50 ของผู้ลงทะเบียนบริจาค Stem Cell เท่านั้น ที่พร้อมจะบริจาคให้กับผู้ป่วยจริง ๆ


นางศิริลักษณ์ เพียรเจริญ หัวหน้างานธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต สภากาชาดไทย ระบุว่า เวลานี้ มีผู้ป่วยในประเทศไทยที่กำลังรอการรักษาราว 1,500 คน แม้จะผู้บริจาคมากกว่า 240,000 คน แต่ความหลากหลายของประชากร ทำให้การพบเนื้อเยื่อ Stem Cell ที่เป็นประเภทเดียวกันทำได้ยาก จึงต้องการเชิญชวนให้ผู้ที่มีโอกาสบริจาคโลหิต เก็บเลือดเพิ่มอีกเล็กน้อย ก็สามารถนำมาตรวจสอบคุณสมบัติการบริจาค Stem Cell ได้แล้ว

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต "สเต็มเซลล์" คืออะไร

Stem Cell คือ เซลล์ตัวอ่อนของโลหิตซึ่งอาศัยในไขกระดูก และจะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิต หล่อเลี้ยงอยู่ในร่างกาย เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสามารถบริจาคให้บุคคลอื่นได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค หัวหน้างานธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต สภากาชาดไทย ระบุว่า ปริมาณสเต็มเซลล์จะถูกคำนวณจากน้ำหนักตัวผู้ป่วย โดยทั่วไปใช้ประมาณ 2 ล้านเซลล์ จึงจะสามารถรักษาได้ โดยวิธีการบริจาคสเต็มเซลล์ มี 2 วิธี คือ

  1. การให้ทางกระแสเลือด วิธีนี้จะต้องให้ยาที่เป็นฮอร์โมนฉีดกระตุ้นสเต็มเซลล์ ที่อยู่ในกระดูกสันหลัง จึงอาจส่งผลให้ปวดกระดูก แต่ตลอดกระบวนการเก็บสเต็มเซลล์จะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
  2. การเข้าห้องผ่าตัด เพื่อนำสเต็มเซลล์ออกจากไขกระดูกโดยตรง วิธีนี้ อาจจะต้องใช้เวลาพักฟื้นร่างกายราว 1 สัปดาห์
การบริจาค Stem Cell เป็นความหวังเดียว ที่จะรักษาผู้ป่วยโรคทางโลหิตให้หายขาด

เนื่องจากผู้บริจาคโลหิตมีความตั้งใจบริจาคสูงอยู่แล้ว เมื่อเข้ามา สิ่งหนึ่งที่รับทราบ คือ การบริจาคสเต็มเซลล์ขั้นต้น หลังอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดลงทะเบียนแล้ว จะต้องผ่านขั้นตอนสำคัญของการเก็บตัวอย่างโลหิตประมาณ 5 ml. (ทำพร้อมกับการบริจาคเลือด) เพื่อตรวจลักษณะเนื้อเยื่อ (HLA typing or tissue typing) และเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ก่อน หากผู้บริจาคมีลักษณะเนื้อเยื่อ HLA เข้ากันได้กับผู้ป่วยแล้ว ศูนย์บริการโลหิตฯ จะเชิญอาสาสมัครมาบริจาคสเต็มเซลล์ในภายหลัง


กระบวนการอาจใช้เวลาไม่นาน แต่หากจะดูว่าสเต็มเซลล์ของเราเข้ากับผู้ป่วยได้หรือไม่อาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก

การบริจาคสเต็มเซลล์นั้นสำคัญ เพียงสมัครใจและเจาะเลือดเพิ่มอีกเล็กน้อยในวันบริจาคโลหิต ก็มีโอกาสช่วยชีวิตผู้ป่วยอีกนับพันคนทั่วประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดเทอม-หยุดยาว คลังเลือดขาดแคลนหนัก ขอกู้วิกฤตด้วยการ "ให้"

สธ.ชวนบริจาคอวัยวะ ชี้ 1 คนให้ ช่วยผู้ป่วย 8 ชีวิต

สธ.เพิ่มการเข้าถึงการวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง นำร่อง 4 จังหวัด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง