วิเคราะห์ "อาเซียน" ยังเสี่ยงก่อการร้าย แม้ผู้นำไอเอสเสียชีวิต

ต่างประเทศ
29 ต.ค. 62
20:05
2,413
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ "อาเซียน" ยังเสี่ยงก่อการร้าย แม้ผู้นำไอเอสเสียชีวิต
นักวิชาการด้านโลกมุสลิมให้ความเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสุ่มเสี่ยงที่กลุ่มไอเอสจะแผ่สาขาเข้ามา เพราะมีพลเมืองของหลายประเทศเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ขณะเดียวกันยังมีนักรบไอเอสหลงเหลือแม้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก

การเสียชีวิตของอาบู บาการ์ อัล-แบกห์แดดี ผู้นำกลุ่มไอเอส ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่อาจจะถูกก่อเหตุโจมตีด้วยการก่อการร้าย ขณะที่กลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีการเคลื่อนไหว แม้จะเกิดสถานการณ์ใดๆ ในตะวันออกกลาง

วันนี้ (29 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสียชีวิตของอาบู บาการ์ อัล-แบกห์แดดี ผู้นำกลุ่มไอเอส ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่อาจจะถูกก่อเหตุโจมตีด้วยการก่อการร้าย ขณะที่กลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเคลื่อนไหวไปมาหาสู่กันต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะเป็นอย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสูญเสียฐานที่มั่นทั้งในอิรักและซีเรียไม่ได้หมายถึงการที่กลุ่มไอเอสจะล่มสลายหายไป เพราะนักรบบางส่วนยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ โดยจุดที่ควรจับตาดูความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษคือ พื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังเกิดเหตุโจมตีพื้นที่บริเวณนี้มากขึ้นในระยะหลัง

 

ผศ.มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีพลเมืองเดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียจำนวนหนึ่ง

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเสี่ยงที่ไอเอสจะแผ่สาขาเข้ามา เพราะมีคนในภูมิภาคไปร่วมกับกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลางหลายประเทศ

ประเทศแรกคือ มาเลเซีย มีพลเมืองเข้าร่วมกลุ่มไอเอส ประมาณ 73 คนและเมื่อเดือน ก.ค.-ก.ย. ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย 16 คน ซึ่งผู้ต้องสงสัยประกอบด้วยชาวมาเลเซีย 3 คน ชาวอินโดนีเซีย 12 คน และชาวอินเดีย 1 คน แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายก่อการร้ายไปมาหาสู่กันตลอด

ส่วนประเทศที่ 2 คือ อินโดนีเซีย มีพลเมืองเข้าร่วมกลุ่มไอเอสสูงถึง 560 คนและได้รับความนิยมในกลุ่มคนอินโดนีเซียที่มีฐานะยากจน ขณะที่กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นทั้งกลุ่มเจมาห์-อิสลามิยาห์ กลุ่มเจมาห์ อันชารุต ดาอูลาห์ และกลุ่มมูจาฮีดีน อินโดนีเซีย ติมูร์ ได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอส โดยกลุ่มเจมาห์ อันชารุต ดาอูลาห์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเมืองสุราบายา เมื่อเดือน พ.ค.2561 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 30 คน


ประเทศสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ มีนักรบเข้าร่วมกลุ่มไอเอส 12 คน ขณะที่กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นอย่างกลุ่มอาบูไซยาฟ ได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอสเช่นเดียวกัน

กลุ่มผู้สนับสนุนไอเอสมีแนวโน้มที่จะเดินทางมายังฟิลิปปินส์ เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายที่ประกาศตนสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอสมีกองกำลังที่เข้มแข็งและสามารถครอบครองพื้นที่บางส่วนได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้การเสียชีวิตของผู้นำกลุ่มไอเอสยังอาจกลายเป็นแรงผลักดันให้บรรดานักรบเปลี่ยนเส้นทางจากอิรักหรือซีเรีย มุ่งหน้าไปยังเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์มากขึ้นด้วย

ทั้งหมดนี้คือพื้นที่เสี่ยงภัยจากอุดมการณ์ไอเอสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทุกประเทศต้องเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังการก่อเหตุโจมตีอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ยังมีความลื่นไหล เปลี่ยนกลุ่มไปมาได้ง่าย และหากกลุ่มไอเอสอ่อนกำลังลง สมาชิกก็อาจหันไปสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์แทนได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้นำสหรัฐฯ แถลงยืนยันผู้นำไอเอสเสียชีวิตแล้ว

สหรัฐฯ เผยร่าง "อัล-แบกห์แดดี" อดีตผู้นำกลุ่มไอเอสถูกฝังในทะเล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง