สบส.เตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สังคม
30 ต.ค. 62
14:46
6,323
Logo Thai PBS
สบส.เตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนเกษตรกรและประชาชนระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิต ควรปรับพฤติกรรมด้วยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติ

วันนี้ (30 ต.ค.2562) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้พืชผลทางการเกษตรมีผลผลิตที่ดี โดยเกษตรกรเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงโดยตรงในการสัมผัสกับสารเคมี รวมถึงทำให้มีโอกาสสะสมในผลผลิตทางการเกษตร และเกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้บริโภคที่รับประทานเข้าไปด้วย เกษตรกรสามารถรับอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ 3 ทาง คือ ทางผิวหนังมากที่สุดร้อยละ 90 รองลงมาคือทางการหายใจ และทางปาก

อาการที่เกิดขึ้นที่สามารถสังเกตได้เมื่อได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกาย คือ จะมีอาการมือสั่น ตาแดง น้ำมูกไหล เดินโซเซ มีผื่นคัน อาเจียน สำหรับประชาชนบริโภคผัก ผลไม้หรือพืชผลทางการเกษตร มีโอกาสรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เช่นเดียวกัน เบื้องต้นจะมีอาการปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ท้องร่วง เป็นตะคริว หายใจติดขัด มองเห็นไม่ชัดเจน หากสะสมในร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นหมัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อัมพฤต อัมพาต โรคมะเร็ง และเสียชีวิตได้

 

 นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวแนะเกษตรกรและประชาชนให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตามหลักสุขบัญญัติ ดังนี้

  • เกษตรกร ต้องอ่านฉลากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ละเอียดก่อนใช้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะฉีดพ่นสารเคมีให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น การสวมหมวก ใส่แว่นตา หน้ากาก สวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมถุงมือ สวมรองเท้าบูท การจัดเก็บสารเคมีให้เป็นที่ปลอดภัย มั่นคง และมีเครื่องหมายแสดงที่เห็นชัด ภายหลังจากการฉีดพ่น ให้ถอดชุดและอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ขณะฉีดพ่น หรือทำงาน แยกซักจากเสื้อผ้าอื่นๆแล้วรีบอาบน้ำให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
  • สำหรับผลิตภัณฑ์บรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้แล้ว ควรทิ้งให้ถูกต้อง คัดแยกออกจากขยะทั่วไป ให้อยู่ในกลุ่มขยะอันตราย ทิ้งให้ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ป้องกันการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และหากพบอาการปกติของร่างกายให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา โดยนำฉลากสารเคมีหรือถ่ายภาพฉลากสารเคมีนั้นไปด้วย
  • ประชาชน ควรปลูกผักรับประทานเองโดยใช้ปุ๋ยสารอินทรีย์ ทานผักตามฤดูกาลจะลดความเสี่ยงต่อผักที่ใช้สารเคมี ไม่นำสารฆ่าหญ้ามาใช้ในบริเวณเพาะปลูกผักผลไม้ และไม่นำมากำจัดมดและแมลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนในครอบครัวได้ สิ่งที่สำคัญในการปรุงอาหารต้องล้างผักให้สะอาดทุกครั้งเพื่อลดความสกปรกและสารพิษตกค้าง เช่น การล้างน้ำไหลผ่าน นาน 2 นาที หรือ แช่ผัก ผลไม้ในน้ำสะอาดหรือน้ำยา ล้างผัก นาน 5-10 นาที และล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ก่อนนำมาปรุงหรือรับประทาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง