ผลศึกษาค่ายารพ.เอกชนพบกำไรสูงเกือบ 100%

เศรษฐกิจ
31 ต.ค. 62
15:32
1,358
Logo Thai PBS
ผลศึกษาค่ายารพ.เอกชนพบกำไรสูงเกือบ 100%
กรมการค้าภายใน ร่วมกับคณะบัญชี จุฬาฯ แถลงผลการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ พบกลุ่มรพ.เอกชนที่มีเครือข่าย มีกำไรส่วนเกินค่อนข้างสูง ทั้งที่ต้นทุนต่ำกว่า แต่คิดราคาสูงกว่ารพ.ที่ประกอบกิจการเดี่ยว

วันนี้(31 ต.ค.62) กรมการค้าภายใน ได้เปิดเผยผลการศึกษา แนวทางการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ซึ่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา คือ นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา Forensic Services บริษัท ไพร๊ซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (PwC) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานบริการด้านการเงินการธนาคาร ประกันภัย ธุรกิจยา โรงพยาบาล โรงแรม และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  

 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ศึกษาข้อมูลราคาซื้อ (ต้นทุนยา) และราคาขายยาที่โรงพยาบาลเอกชนแจ้งเข้ามาในระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Big Data) ด้วยการเรียงลำดับของราคาขายและราคาซื้อ จากสูงสุดไปต่ำสุด และจำแนกปัจจัยที่อาจมีผลต่อการกำหนดราคาขายและราคาซื้อ ในเบื้องต้นผลการวิเคราะห์พบว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจ มีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชน

โดยโรงพยาบาลแบบกลุ่ม (ที่มีบริษัทในเครือ) ประเภทบริษัทจำกัด พบว่า ส่วนใหญ่มีการกำหนดราคาขายสูง ขณะที่มีราคาซื้อค่อนข้างต่ำ ซึ่งโดยปกติเชื่อได้ว่า มีอำนาจต่อรองสูงและน่าจะมีการจัดซื้อในปริมาณที่มาก ดังนั้น ธุรกิจแบบกลุ่มจะมีอัตรากำไรส่วนเกิน สูง

ขณะที่โรงพยาบาลแบบเดี่ยว ประเภทบริษัทจำกัดและมูลนิธิ พบว่าส่วนใหญ่มีการกำหนดราคาขายค่อนข้างต่ำ ขณะที่มีราคาซื้อค่อนข้างสูง ซึ่งโดยปกติเชื่อได้ว่า มีอำนาจต่อรองต่ำและจัดซื้อในปริมาณที่น้อย ดังนั้น ธุรกิจแบบเดี่ยวจะมีอัตรากำไรส่วนเกินต่ำกว่าแบบกลุ่ม

ส่วนปัจจัยแหล่งที่ตั้ง พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกำหนดราคาขายสูง

ขณะที่ปัจจัยด้านมาตรฐาน Joint Commission International หรือ JCI และขนาดจำนวนเตียง พบว่าไม่ได้มีผลกระทบที่มีความสัมพันธ์กับการกำหนดราคาแต่อย่างใด

ผลการศึกษาจากการวิเคราะห์โรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาขายสูง 10 อันดับแรก และราคาขายต่ำ 10 อันดับแรก พบว่าการกำหนดราคาขายของโรงพยาบาลเอกชนแบบกลุ่ม ไม่สอดคล้องกับต้นทุน กล่าวคือ ต้นทุนต่ำ แต่กำหนดราคาขายสูง

จะเห็นได้ว่า และอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน (CM Ratio) ของรายการยา เช่น ตัวอย่างยา Tylenol (แก้ปวดลดไข้)  มีช่วงราคาขายตั้งแต่ 22 - 26.58 บาท และมีกำไรถึง 21.00 - 97.82 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ยา Anapril (ลดความดัน) มีช่วงราคาขาย 150 - 9,100 บาท มีอัตรากำไรตั้งแต่ 60 - 98.91 เปอร์เซ็นต์เป็นต้น 

 

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า โรงพยาบาลในเครือที่มีหลายสาขา แต่การคิดค่ายาและบริการหรือเวชภัณฑ์ในด้านต่างๆ มีราคาสูงเกินจริง ทั้งที่ระบบทางการตลาดต้นทุนในการซื้อยาจะต้องมีราคาถูกลง แต่กลับมาคิดในอัตราที่แพงพอสมควร บางโรงพยาบาลมีราคาสูงเกินความเป็นจริงหลายเท่าตัว ดังนั้น ในขั้นตอนต่อไปเมื่อมีฐานข้อมูลแยกกลุ่มและประเภทของโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบชัดเจนแล้วทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมที่ปรึกษาจะไปจัดทำฐานข้อมูลการบวกกำไร (มาร์จิ้น) ค่ายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการในด้านต่างๆ กันต่อไป

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการจัดทำมาร์จิ้นจะพิจารณาเสร็จได้ในเร็วๆ นี้ และหลังจากนั้น กรมการค้าภายในจะประกาศใช้เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลเอกชนนำไปใช้ในการคิดราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กรมฯจะใช้แนวทางเชิญชวนโรงพยาบาลเอกชนที่ดีไม่เอาเปรียบผู้บริโภคมาเข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลคุณธรรม ที่ภาครัฐจะมอบตราสัญญาลักษณ์ให้กับโรงพยาบาลที่ดีและมีคุณธรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับโรงพยาบาลอีกด้วย และในอนาคตเชื่อมั่นว่าการวิเคราะห์ต้นทุนด้านต่างๆ ออกมาชัดเจนจะทำให้ระบบค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการด้านต่างๆ มีความถูกต้องและเป็นจริงมากขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง