"ธรณ์" แนะใช้เวทีสุดยอดอาเซียนเป็นเครื่องมือแก้วิกฤตขยะทะเล

สิ่งแวดล้อม
1 พ.ย. 62
14:03
2,696
Logo Thai PBS
"ธรณ์" แนะใช้เวทีสุดยอดอาเซียนเป็นเครื่องมือแก้วิกฤตขยะทะเล
"ไทยพีบีเอส" พบขวดพลาสติกจากประเทศเพื่อนบ้านเกยหาดบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล สะท้อนวิกฤตขยะทะเลอันดามัน "ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ชี้ ต้องใช้เวทีสุดยอดอาเซียนวางโรดแมปให้ชัด ก่อนถูกชาติมหาอำนาจใช้อ้างกีดกันทางการค้า เปรียบกรณี IUU

วันนี้ (1 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิกฤตขยะทะเลอาเซียน ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลจำนวนมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จาก รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่ 3 ปีที่ผ่านมา สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ เกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว โดยมี ขยะพลาสติก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลตายลง เพราะกลืนขยะทะเลเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และเป็นสาเหตุที่ทำให้พบไมโครพลาสติกในอาหารและสัตว์ทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 รอบแรก เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยพร้อมด้วยชาติอาเซียนรวม 10 ประเทศ ได้ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ที่ให้คำมั่นจะร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังในระดับภูมิภาค

     ดูเพิ่ม : 8 ประเทศอาเซียนร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ

     ดูเพิ่ม : ASEAN Waste Crisis วิกฤตขยะล้นอาเซียน


ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 รอบสุดท้าย ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 - 4 พ.ย.นี้ ทีมข่าวไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ถึงปัญหาขยะข้ามพรมแดน และความคาดหวังที่มีต่อการประชุมในครั้งนี้

ทะเลจีนใต้ - แม่น้ำโขง จุดรวมขยะพลาสติก

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 หนึ่งในประเด็นที่ผู้นำจะหารือร่วมกัน คือการสานต่อความร่วมมือในการจัดการปัญหาขยะทะเล รัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้นำไปผลักดันในการประชุม G20 รวมถึงความคืบหน้าต่อร่างปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน


ผศ.ธรณ์ ระบุว่า ในภูมิภาคอาเซียน มี 5 ประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก เป็นปัญหาต่อเนื่องมา 2-3 ปี ทั้งในเรื่องสาเหตุการตายของสัตว์ทะเล การท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องการประมง ที่จับได้ถุงพลาสติกมากกว่าปลา ต่อเนื่องถึงปัญหาไมโครพลาสติก ที่ส่งผลกระทบกลับมาสู่สุขภาพของมนุษย์

ตามแผนปฏิญญากรุงเทพฯ ที่ได้รับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 รอบแรก เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ละประเทศจะต้องกลับไปจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเพิ่งเลิกการใช้ถุงพลาสติกบนเกาะบาหลี ส่วนฟิลิปปินส์เลิกใช้แล้วในบางเกาะ ขณะที่ประเทศไทย มีโรดแมปจัดการขยะพลาสติก และ 1 ม.ค.2563 จะเลิกใช้ถุงพลาสติกในห้างร้านต่างๆ 43 แห่งทั่วประเทศ เพราะฉะนั้น แต่ละประเทศ หากทำพร้อมกัน จะสามารถช่วยได้ในการลดขยะพลาสติกในภาพรวมทั้งหมด

การประชุมครั้งนี้ แน่นอนว่าจะต้องสืบเนื่องจากครั้งก่อน ต้องมาดูกันว่า ประเด็นอะไรที่ผ่านมาประมาณเกือบ 6 เดือน ตอนนี้จะเริ่มต้นได้แล้ว เพราะทะเลจีนใต้และแม่น้ำโขง ยังถูกจัดอันดับว่าเป็น 1 ใน 10 ของแม่น้ำที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก

ขยะข้ามพรมแดน สะท้อนความรุนแรงของปัญหา

ผศ.ธรณ์ แสดงความเห็น กรณีพบขวดพลาสติกที่ระบุที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเกยหาดที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล โดยระบุว่า ปัญหานี้ คือ ส่วนหนึ่งของงานวิจัย โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งหน่วยปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเลขึ้น เพื่อศึกษาและจับมือร่วมกับต่างประเทศ เรื่องกระแสน้ำต่อทิศทางการไหลของขยะ โดยเฉพาะทะเลอันดามัน ด้านในใกล้ฝั่ง 5 ประเทศ


จากการศึกษา พบว่าปัจจัยของขยะทะเลส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับลมมรสุม บางเดือนพัดเข้าหาประเทศไทยจากแหลมญวนทางตอนใต้ของเวียดนาม ส่วนขยะที่อยู่ในอ่าวไทยรูปตัว ก. มักจะวนอยู่ในนั้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากฉลาก หรือความเปื่อยยุ่ยของสินค้า

ข้อดี คือ ตอนนี้เขาสามารถเช็กแบรนด์ได้แล้ว ว่าขยะนี้มาจากที่ไหน หากในอนาคตร้อยละ 90 มาจากประเทศอื่น เราก็สามารถบอก หรือ นำเสนอข่าวได้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการ แต่ ณ ตอนนี้เรายังทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันยังไม่ถึงขั้นนั้น

ขยะทะเลอาเซียน ไม่ใช่แค่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ผศ.ธรณ์ ระบุอีกว่า หากจัดลำดับประเทศที่เป็นผู้นำในด้านการต่อสู้ขยะทะเล ส่วนตัวเชื่อว่า อันดับแรก คือ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จากนั้น คาดการณ์ว่าประเทศที่จะตามมา คือ เวียดนาม ส่วน เมียนมาและกัมพูชา อยู่ในจุดกำลังพัฒนา ซึ่งอาจรวมถึง ประเทศบรูไน ด้วย ขณะที่ประเทศที่ต้องเข้าไปช่วยมากที่สุด คือ ประเทศลาว แม้ไม่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเล แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขงที่ไหลลงสู่ทะเล ซึ่งที่ผ่านมา อาเซียนถูกจับตาจากประชาคมโลก ว่าจะมีแผนหยุดยั้งวิกฤตได้อย่างไร เพราะฉะนั้น อาเซียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขยับด้านขยะทะเลอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยก เพื่อใช้ในการค้าระหว่างประเทศ

ไม่นานมานี้ เราเคยถูกไอยูยู (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) เรื่องของประมงล้างผลาญ ในภายภาคหน้า เขาก็อาจจะมาบีบในเรื่องการค้าของเรา โดยที่ตั้งเป้าเรื่องขยะทะเลมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งขยะทะเลนี้ บอกตามตรง ว่าแก้ยากกว่าประมงล้างผลาญมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการอย่างแรกก็คือ ป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์นั้น


หลังเวทีอาเซียน ความร่วมมือที่ต้องชัดเจนกว่าเดิม

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ในวันที่ 2 - 4  พ.ย.นี้ ผศ.ธรณ์ คาดหวังว่า จะได้เห็นโรดแมปของแต่ละประเทศ ที่ระบุชัดเจนว่า จะยกเลิกพลาสติกประเภทไหน ปีไหน เพื่อเปรียบเทียบในการประชุมครั้งหน้า ว่าทำไมบางประเทศถึงช้าประเทศอื่นๆ ต้องการความช่วยเหลืออะไร เรื่องแลกเปลี่ยนความรู้มีอะไรบ้าง หากเกิดขึ้นจริง ก็สามารถช่วยกันเร่งแก้ปัญหาให้เร็วขึ้นได้ เพราะปัญหาสำคัญในเวลานี้ ไม่ใช่ทำหรือไม่ทำ แต่จะทำทันวิฤตหรือไม่ เพราะฉะนั้นทั้ง 10 ประเทศ ต้องชัดเจนว่าจะเริ่มแบนพลาสติกอะไร เมื่อไหร่ และทำอย่างไร ต้องชัดเจน แล้วจึงจะเดินหน้าไปด้วยกันได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ชาวเกาะหลีเป๊ะ" วอนใช้กลไกอาเซียนแก้ปัญหาขยะทะเล

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง