รถไฟฟ้าสายสีแดงเตรียมเปิดให้บริการ ม.ค. 64

เศรษฐกิจ
1 พ.ย. 62
18:41
20,220
Logo Thai PBS
รถไฟฟ้าสายสีแดงเตรียมเปิดให้บริการ ม.ค. 64
“ศักดิ์สยาม” ยืนยันพร้อมเปิดให้บริการรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–รังสิต และช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน ม.ค. 64 ค่าโดยสาร 14-47 บาท

วันนี้ (1 พ.ย.2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–รังสิตและช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน ถือว่าเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางมาจากบางซื่อไปตลิ่งชัน โดยในอนาคตจะมีส่วนต่อขยายไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตอีกด้วย รวมถึงจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

 

โดยอัตราค่าโดยสาร เบื้องต้นได้ทำการศึกษาอยู่ที่ 14-47 บาท สำหรับระบบเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นนั้น ขณะนี้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะมีการปรับเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในส่วนของขบวนรถที่จะนำมาให้บริการนั้น จะมีทั้งสิ้น 25 ขบวน โดย 1 ขบวนมี 12 ตู้ รองรับได้ 300 คน/ตู้ หรือ 3,600 คน/ขบวน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะให้เปิดให้บริการในช่วง ม.ค.2564 อย่างแน่นอน

 

 

ขณะที่ การจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟท.ที่จะเข้ามาบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังอยู่ระหว่างการศึกษาของคณะทำงานโดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งแนวทางความพร้อมของ รฟท.ในการดำเนินการ บุคลากร รวมถึงเงินลงทุนในการจัดตั้งบริษัท และแนวทางที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่จะเข้ามาบริหารโครงการ อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปลายปีนี้ จะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไป

 

 

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ความก้าวหน้าของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และสถานีกลางบางซื่อนั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2562 สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความก้าวหน้าร้อยละ 91.11 ส่วนของสัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าร้อยละ 62.40 โดยการต้อนรับขบวน

สำหรับรถไฟฟ้าชุดแรก 2 ขบวนนั้น อยู่ในสัญญาที่ 3 เป็นของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประกอบไปด้วย ขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin

 

 

ทั้งนี้ รฟท. ได้รับมอบรถไฟฟ้า จำนวน 10 ตู้ ซึ่งเป็นขบวนรถโดยสารชุดแรกจากทั้งหมด 25 ขบวน โดยในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing และทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ภายในต้นปี 2564 สามารถเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ในการขนส่งอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เปิดให้บริการ ขบวนรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าในปีที่เปิดดำเนินการจะมีจำนวนผู้โดยสารในปี 2564 จำนวน 86,620 คน/วัน ปี 2670 จำนวน 113,031 คน/วัน และปี 2575 จำนวน 135,129 คน/วัน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า สำหรับโครงการสายสีแดงส่วนต่อขยาย ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6.57 พันล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 7.46 พันล้านบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณา TOR และราคากลาง ไปแล้ว คาดว่าจะมีประชุมอีก 2 ครั้งก่อนที่จะนำร่าง TOR เปิดประชาพิจารณ์บนเว็บไซต์ในช่วงเดือน ธ.ค. จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน ม.ค. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง