"มาดามเดียร์" หนุนอาเซียนจับมือเจ้าภาพฟุตบอลโลก

กีฬา
4 พ.ย. 62
11:48
383
Logo Thai PBS
"มาดามเดียร์" หนุนอาเซียนจับมือเจ้าภาพฟุตบอลโลก
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หนุน "อาเซียน” เจ้าภาพบอลโลก 2034 แม้เส้นทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ วิเคราะห์ชาติอาเซียน มีเอกภาพ ถือเป็นความท้าทายเตรียมความพร้อม และพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอล เชื่อหากสำเร็จถือเป็นความฝันสูงสุด ยกระดับชื่อเสียงสู่เวทีโลก

วันนี้ (4 พ.ย.2562) น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ระบุว่า #บอลโลก2034 #อาเซียนซัมมิท#ASEAN#FIFA  หนุนอาเซียน”เจ้าภาพบอลโลก 2034 แม้เส้นทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

หลังจากที่สมาชิกอาเซียนประกาศ จับมือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2034 ที่เกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนซัมมิท ต้องบอกว่าทำให้เดียร์ และเชื่อว่าแฟนบอลอีกหลายคน ต้องดีใจเป็นพิเศษ เพราะฟุตบอลโลก นอกจากจะเป็นความฝันสูงสุดของวงการฟุตบอลทีมชาติ แต่การจัดงานยังช่วยกระตุ้น ระบบหมุมเวียนเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและยาวให้กับประเทศ ยกระดับกลุ่มอาเซียนให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก แต่เป้าหมายจะไปได้ถึงจริงหรือไม่ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ

1. จากตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับเทียบกับมูลค่าการลงทุน หากเราดูกรณีตัวอย่างเจ้าภาพในรอบ 3 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า ทั้งกรณีแอฟริกาใต้ บราซิลและรัสเซีย ต่างล้วนอยู่ในสภาวะที่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมาจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น ทั้ง 3 ประเทศล้วนมีต้นทุนค่าก่อสร้างสนามแข่งขัน และพื้นฐานสาธารณูปโภคอื่นๆที่สูงมาก

โดยเฉพาะหากเราย้อนดูกรณีเมื่อครั้งที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพปี 2006 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการกอบโกยรายได้เข้าประเทศเพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับบราซิล ที่งบประมาณก่อสร้างบานปลาย มีปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากมาย จนสร้างสนามเสร็จวินาทีสุดท้ายก่อนพิธีเปิด

2. ความเป็นเอกภาพของประเทศในอาเซียน ในการร่วมกันจัดงาน ยกตัวอย่างงานพิธีเปิด-ปิด ของฟุตบอลโลก ที่จะถือเป็นไฮไลท์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เราจะมีมาตรการอย่างไรในการคัดเลือกประเทศที่มีความพร้อมที่สุดในการเป็นเจ้าภาพ

ซึ่งถ้าดูจากความพร้อมสนามปัจจุบันที่ต้องมีจำนวนที่นั่งอย่างน้อย 80,000 ที่นั่งตามข้อกำหนดของฟีฟ่า ก็ดูเหมือนจะมีเฉพาะ 2 ประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อมปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพราะสนามรัชมังคลาฯ ของไทยที่ใหญ่ที่สุดสามารถจุคนได้เพียงประมาณ 49,000 คนเท่านั้น ดังนั้นหากไทยต้องการคว้าพิธีเปิด หรือปิดฟุตบอลโลกมาจัดเองก็ต้องมีการลงทุนสนามแข่งเพิ่มเติม

นับว่ายังมีความท้าทายอีกหลายจุดโดยเฉพาะในการเตรียมทีมชาติเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ หากอาเซียนต้องการเป็นเจ้าภาพจริง การพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลก็คงต้องทุ่มเทความสำคัญนับเป็นวาระหลักของประเทศอีกหนึ่งวาระ

ส่วนจะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนก็คงอยู่ที่ความสามารถของรัฐบาลที่จะวางแผนควบคุมต้นทุนไม่ให้เกิดปัญหาดังเช่นในกรณีประเทศบราซิล แต่ที่สำคัญแน่ๆคือ การลงทุนครั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือ ความสุขและความภูมิใจของแฟนบอลอาเซียนทุกคน และอีกสิ่งสำคัญนั่นคือความสามัคคีของคนในชาติที่สามารถสร้างได้ด้วยกีฬา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง