ตัดงบกองทุนเสมอภาค ส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น

สังคม
4 พ.ย. 62
18:34
1,493
Logo Thai PBS
ตัดงบกองทุนเสมอภาค ส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น
“ครูจุ๊ย” อนาคตใหม่ เตรียมถามตรงนายกฯ เหตุตัดงบกองทุนฯ ช่วยเด็กยากจน สวนทางนโยบายรัฐบาล อดีตผู้ว่าการแบงค์ชาติชี้ กองทุนแก้ที่ต้นเหตุ ลงทุนน้อยประสิทธิภาพสูง ไม่ทิ้งความยากจนข้ามรุ่น ด้าน กสศ. ใช้กรอบโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2562 วิจัยความคุ้มค่าของกองทุนฯ
เหตุใด รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณให้กับ กสศ.อย่างจำกัดมาก จน กสศ.ไม่อาจที่จะขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ได้ และมีแนวโน้มจะถูกตัด หรือควบคุมงบประมาณในปีถัด ๆ ไป

ข้อความในจดหมาย ถึง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ของ น.ส.กุลธิกา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ขอตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ในวันแรกของการเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2562

สาระของจดหมาย ระบุว่า กสศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ถูกกำหนดให้เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตามนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี แถลงไว้ แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ในปี 2561 และ 2562 คือ 1,222 ล้านบาท และ 2,537 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับเด็กยากจน 4.3 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้

รัฐบาลมีแนวทางจะจัดสรรงบประมาณให้กับ กสศ.อย่างไร และจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่าน กสศ.ที่เป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนอย่างไร คือ คำถามหลักๆ ที่ ส.ส.อนาคตใหม่ ต้องการให้ นายกรัฐมนตรี ชี้แจง

ไม่ทิ้งให้จนข้ามรุ่น

ก่อนหน้านี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้ออกโรงมาสะกิดเตือนรัฐบาลว่า ระวังอย่าตกหลุมพราง คิดว่างานที่กองทุนเสมอภาคฯ ทำ ซ้ำซ้อนกับงานอื่นๆ จึงเลือกตัดงบกองทุนฯ

เขายืนยันว่า ภารกิจของกองทุนฯ เน้นการใช้มาตราที่สนับสนุนตรงไปที่ ผู้เรียนและครอบครัว (Demand for Education) จะให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าและใช้งบประมาณน้อยกว่า มาตรการการสร้างโรงเรียน ขยายห้องเรียน หรือเพิ่มครู (Supply for Education)

กสศ.ทำที่ต้นเหตุ ไม่ทิ้งปัญหายากจนข้ามชั่วคน ในขณะที่แจกเงินชิมช็อปใช้ จะหมด รุ่นต่อไปก็หมด

ทิศทางการทำงานของ กสศ. ยังสอดคล้องกับ งานวิจัยของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้รับ รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2562 ที่ ราชสถาบันวิทยาศาสตร์สวีเดน มอบรางวัลให้กับ นายอะบีจิต บาเนร์จี, นางเอสเธอร์ ดิวโฟล นักวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที), และนายไมเคิล เครเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา จากผลงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนระดับโลก


ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. บอกว่า รางวัลโนเบลปีนี้ มาได้ถูกที่ถูกเวลา กับสถานการณ์การเงินของรัฐและการบริจาคที่มีแนวโน้มลดลง แต่ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับเริ่มชะลอตัว จึงต้องอาศัยมาตรการ ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก


วิจัยกองทุนตามโนเบล 62

นายไกรยส ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กสศ. ได้ประชุมกับศูนย์วิจัย J-PALแห่งมหาวิทยาลัย MIT สาขาภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนากรอบความร่วมมือในการวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของ กสศ. โดยใช้เครื่องมือนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งเป็นแนวทางของนักวิจัยรางวัลโนเบล ด้านเศรษฐศาสตร์ในปีนี้


คาดว่า ผลงานวิจัยที่ได้ จะทำให้ กสศ. รู้ว่า ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ จะเน้นการทำงานในส่วนไหนก่อน และทำอย่างไรให้งานของ กสศ.สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืนแท้จริง

สังคม และผู้เสียภาษีจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่า กสศ. เราจะใช้เงินเหล่านั้นไปถึงตัวเด็กเยาวชน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีผลสูงสุดให้ได้ตามเงินที่ได้รับมาทุกบาท-ทุกสตางค์


งบ 2563 ถูกตัดอีก

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางศึกษา หรือ กสศ. จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาไทย โดยบัญญัติเรื่องนี้ไว้ใน รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้มีการยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี


เดิมตอนที่มีการยกร่างกฎหมาย คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีข้อเสนอให้รัฐจัดสรรงบประมาณ 5% จากงบด้านการศึกษา หรือ ประมาณ 25,000 ล้านบาทเป็นเวลา 5 ปี มาแก้ปัญหานี้ แต่ถูก สนช.ตัดออก และระบุไว้ในมาตรา 6 (3) “เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว”

ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 ที่เพิ่งผ่านวาระที่ 1 กองทุนฯ ถูกตัดงบประมาณจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 5,496 ล้านบาท เหลือเพียง 3,858 ล้านบาท.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง