"ชวน หลีกภัย" ยอมรับไม่เห็นด้วย รธน. 60

การเมือง
5 พ.ย. 62
13:51
1,890
Logo Thai PBS
"ชวน หลีกภัย" ยอมรับไม่เห็นด้วย รธน. 60
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับเป็นหนึ่งในบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พร้อมกับชี้ว่าปัญหาที่นำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้มาจากตัวบทกฎหมาย แต่มาจากฝ่ายบริหาร หรือตัวบุคคล

วันนี้ (5 พ.ย.2562) การปาถกฐาเรื่อง “ความหวังสภาฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นฉบับที่ 20 หากทบทวนตั้งแต่ฉบับที่ 1 ระบุว่า เกิดทันใช้ฉบับที่ 3 ฉบับปี 2489 โดยใช้รัฐธรรมนูญมามากถึง 18 ฉบับ เล่าย้อนถึงอดีตตั้งแต่เป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวางเป้าหมายสูงสุดคือการเข้ามาเป็นผู้แทนปวงชน หรือ ส.ส.ที่สุดท้ายสามารถทำได้ซึ่งได้ชนะเลือกตั้งมา 18 สมัย หรือราว 50 ปี และได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

และด้วยความตั้งใจยืนยันไม่ย่อท้อหวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยึดถือรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด และรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจก็มักจะมีเฉพาะกาลที่กำหนดให้ผู้ออกรัฐธรรมนูญนั้นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และในฐานะการเมือง ชี้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดโครงสร้างการปกครองประเทศ คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 40 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่ดีฉบับหนึ่งเพราะทำให้เกิดองค์กรอิสระมากมายเข้ามาทำหน้าที่เพิ่มนอกจาก 3 เสาหลัก

นายชวนยังระบุว่า ปัญหาที่นำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่ได้เกิดจากตัวกฎหมายแต่เกิดจากบุคคล ผู้บริหารที่ละเมิดหลักนิติธรรม เช่น การแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วยวิธีการฆ่าทิ้งเมื่อ 8 เม.ย.2544 และเกิดเหตุการณ์ 4 เม.ย.2547 ซึ่งปัญหาเรื่องการใช้และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องไปด้วยกัน แนวปฏิบัติที่ยึดกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่เคยให้ความเห็นต่อนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก่อนทิ้งท้ายระบุว่า เป็นหนึ่งคนที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจุบันนี้ เพราะเห็นว่าหากจะมีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งควรจะทำ สิ่งแรกคืออย่าเพิ่งหักด้ามพร้าด้วยเข่า ขอให้ติดตามความปรารถนาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคืออะไร และตั้งคำถามว่าเราควรจะมีสภากี่สภา หรือควรจะมีวุฒิสภาหรือไม่ หรือไม่ว่าจากมีบทบาทอะไรควรมาจากระบบการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน

ประธานสภาฯ ย้ำว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายต้องยุติธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ และสภาคือฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 ของในอำนาจอธิปไตย ที่ต้องเคารพกฎหมาย ยกตัวอย่างว่าได้แจ้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ในฐานะฝ่ายบริหารต้องมาชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ย้ำทำให้สภาฯเป็นมาตรฐานตัวอย่างในการเคารพกฎหมายของไทย คือ ด้านวินัยในชาติ ที่ควรเป็นวาระแห่งชาติ แต่ 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยได้ทำเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง