ไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใหม่ของโลก ตัวที่ 11 ของไทย

Logo Thai PBS
ไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใหม่ของโลก ตัวที่ 11 ของไทย
ค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใหม่ของโลก "วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส" ฉายาจ้าวลมกรด อายุ 130 ล้านปี ขุดค้นพบที่ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู ถือเป็นไดโนเสาร์ตัวที่ 11 ของไทย

วันนี้ (12 พ.ย.2562) นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis) หรือ ไดโนเสาร์จ้าวลมกรด มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4 - 4.5 เมตร อายุ 130 ล้านปี ค้นพบที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู โดยนายพลาเดช ศรีสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี 2531

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

สำหรับ ชื่อสกุลของ "วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส" มาจากภาษาสันสกฤต วายุ หรือพระพาย เทพแห่งลม ผสมกับ raptor ภาษาลาติน แปลว่า หัวขโมย สื่อถึงไดโนเสาร์ที่มีความเร็วปราดเปรียว ตั้งขึ้นตามลักษณะขาหลังที่ยาวเรียว ส่วนชื่อชนิด ตั้งตามจังหวัดที่ค้นพบ วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส จัดอยู่ในกลุ่มเบซอลซีลูโรซอร์ (basal coelurosaurs) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนกมากกว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น อัลโลซอรัส เมกะโลซอรัส สไปโนซอรัส

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบประกอบด้วย กระดูกหน้าแข้งและข้อเท้า กระดูกคอราคอยด์ กระดูกซี่โครง กระดูกหัวหน่าว กระดูกฟิบูล่า และนิ้ว จากการศึกษาลักษณะของกระดูกข้อเท้า ที่ไม่เหมือนไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใดๆในโลก ทำให้สามารถจำแนกเป็นชนิดใหม่ได้ แต่ด้วยจำนวนฟอสซิลที่ค้นพบนั้น ยังไม่เพียงพอในการศึกษาจำแนกลงลึกในรายละเอียดความสัมพันธ์กับไดโนเสาร์ในกลุ่มซีลูโรซอร์อื่นๆ จำเป็นจะต้องมีการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติมต่อไป

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของไทย ตัวที่ 11 วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส ถูกค้นพบในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เทือกเขาภูเก้าเป็นเทือกเขาสองชั้น ชั้นนอกเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชันมาก ทำให้ที่ภูเก้ามีจุดชมวิวลักษณะเป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่สวยงามมากมาย มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 201,250 ไร่ หรือ 322 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในแถบเทือกเขาภูเก้า มีพิพิธภัณฑ์แหล่งซากดึกดำบรรพ์ บริเวณภูเก้า และแหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ภูเก้า นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์หอยหิน ที่ ต.โนนทัน อ.เมือง ซึ่งเป็นหอยสองฝาน้ำจืด อายุ 130 ล้านปี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

จากการศึกษาถึงวิวัฒนาการของไดโนเสาร์กลุ่มเบซอลซีลูโรซอร์นี้ นับว่ามีจำนวนและการศึกษาวิจัยน้อย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนและข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ให้แก่ไดโนเสาร์ในหมวดหินเสาขัว ของประเทศไทย (หมวดหินเสาขัว มีการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ได้แก่ สยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส, สยามโมซอรัส สุธีธรนิ, ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ, คาคาร์โรดอนโตซอร์ และวายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส) หากไดโนเสาร์กินเนื้อเหล่านี้อยู่ในยุคและแหล่งอาศัยเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ว่า พวกมันจะมีพฤติกรรมที่ต่างกัน เช่น วิธีการล่าเหยื่อ ช่วงเวลาในการล่า รวมถึงการกินอาหารที่แตกต่างกัน ดังเช่นในทุ่งหญ้าสะวันนาที่มีสัตว์นักล่าที่หลากหลายทั้งขนาดและพฤติกรรม เช่น สิงโต เสือดาว เสือชีต้า และไฮยีน่า เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรธรณียังได้พัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดสร้างพิพิธภัณฑ์และอาคารคลุมหลุมขุดค้น 2 แห่ง ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ที่เป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์หลากหลายประเภท ได้แก่ กระดูกไดโนเสาร์ ฟันฉลามน้ำจืด เกร็ดปลา กระดองเต่า จระเข้ หอยน้ำจืด รอยตีนไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหิน และมอบให้ทางอุทยานฯ เป็นผู้ดูแลใช้ประโยชน์ต่อไป

กรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการประกาศให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ต่อไป

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

 

"วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส" มีลักษณะข้อเท้าที่ไม่เหมือนไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใดในโลก จึงได้รับการตั้งชื่อเป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ และถูกจัดอยู่ในเบซอลซีลูโรซอร์ ถือได้ว่าอยู่ตรงกลางระหว่างไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่กับไดโนเสาร์ที่จะวิวัฒนาการไปเป็นนก 

หากเทียบหมวดหินเสาขัวแห่งเทือกเขาภูเวียงและภูวัดกับทุ่งหญ้าสะวันนา วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส ก็เปรียบได้กับ "เสือชีต้า" ที่มีความปราดเปรียว สยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส เปรียบได้กับ "สิงโต" ที่เป็นนักล่าขนาดใหญ่ และภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ ก็อาจเปรียบได้กับ "เสือดาว"

 

ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในไทย

ก่อนหน้านี้ เคยมีการขุดพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ในประเทศไทยแล้วกว่า 16 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก 11 ชนิด ได้แก่

  • ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae)
  • กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khonkaennsis)
  • สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
  • สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni)
  • อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi)
  • ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki)
  • สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami)
  • สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)
  • ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)
  • ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi

และ วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี! พบ "ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ" ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง