ชาวกาญจน์ ขอ "นายก" ซื้อคืนโรงงานกระดาษ เดินหน้าพัฒนาย่านเมืองเก่า

สังคม
12 พ.ย. 62
20:36
1,158
Logo Thai PBS
ชาวกาญจน์ ขอ "นายก" ซื้อคืนโรงงานกระดาษ เดินหน้าพัฒนาย่านเมืองเก่า
ภาคประชาสังคมกลุ่มภูมิเมืองกาญจน์ เรียกร้องนายกรัฐมนตรี ซื้อโรงงานกระดาษเก่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุ 83 ปี คืนจากภาคเอกชน ขณะประชุม ครม.สัญจรนัดแรกหลังการเลือกตั้ง ก่อนกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเมืองเก่าแบบมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.2562) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เดินทางไปที่โรงงานกระดาษไทย อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามการปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเมืองเก่า โดยพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษไทย ที่ภาคประชาสังคมเคยเน้นย้ำกับนายกรัฐมนตรีขณะลงพื้นที่เมื่อปีที่แล้วให้ยึดเรื่องการมีส่วนร่วม

รัฐบาลยังพร้อมสนับสนุนโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงกระดาษให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ขอให้คนเมืองกาญจน์ช่วยกันผลักดันพัฒนาต่อไป เพียงแต่ขออย่าทำลายประวัติศาสตร์

 

 

"พร้อมสนับสนุนโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงงานกระดาษ" เป็นเหมือนคำมั่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้กับประชาชนกลุ่มภูมิเมืองกาญจน์อีกครั้ง หลังจากที่เคยลงพื้นที่มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ก่อนการเลือกตั้ง พร้อมกับวางอิฐเก่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์การตอบรับความพยายามของคนในพื้นที่

ด้านภาคประชาสังคมกลุ่มภูมิเมืองกาญจน์ ที่พยายามผลักดันการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษไทย ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะกลางเมืองแบบมีส่วนร่วม ได้นำเสนอความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมรายงานถึงอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ เพราะกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารที่ยังเป็นของเอกชน ทำให้กลไกการทำงานลักษณะหุ้นส่วนระหว่างรัฐ ประชาสังคม และเอกชน ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมยังไม่สามารถเดินหน้าได้ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซื้อคืนอาคารโรงงานกระดาษไทยกลับมาเป็นของรัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลหนุนพัฒนาโรงงานกระดาษเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองกาญจน์

 


ย้อนเหตุการณ์ ขอคืนพื้นที่โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี


การลงพื้นที่โรงงานกระดาษไทยของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นความหวังของภาคประชาสังคมกาญจนบุรีที่จะปลดล็อกความพยายามในการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าแบบมีส่วนร่วม หลังจากใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีเต็ม ในการเคลื่อนไหวขอให้กรมธนารักษ์ยุติสัญญาเช่าที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษที่มีอายุกว่า 80 ปี กับ บ.อุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์จำกัด ที่ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายใน ซึ่งได้ซื้อขาดจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2530

 

 

 

โรงงานกระดาษไทย ตั้งอยู่ใน ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีเนื้อที่กว่า 60 ไร่ เคยเป็นของรัฐบาลที่ก่อสร้างขึ้นในปี 2479 สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ที่นี่เป็นโรงงานผลิตกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทยที่เปิดดำเนินการครั้งแรกในปี 2481 พื้นที่โดยรอบมีสาธารณูปโภคที่ทันสมัยในขณะนั้น เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โรงพยาบาล โทรทัศน์เครื่องแรก และมีโรงเรียนกระดาษไทยอนุเคราะห์ ที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

 

 

 

แผ่นกระดาษจากโรงงานแห่งนี้ เคยถูกนำมาทำธนบัตรและแสตมป์รุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารกว่า 20 หลัง ที่ตั้งอยู่ในรั้วกำแพงเมืองเก่าโบราณสถานสมัยรัฐกาลที่ 3 เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวกาญจนบุรีส่วนหนึ่งเกิดความตื่นตัวเรื่องอนาคตพื้นที่โรงงานกระดาษ เมื่อทราบว่าในปี 2556 กรมธนารักษ์ กรมศิลปากร จังหวัดกาญจนบุรี และ บ.อุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์ จำกัด ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เตรียมพัฒนาพื้นที่ในโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น พิพิธภัณฑ์โรงพิมพ์ และโรงแรมแนวอนุรักษ์เชิงพานิชย์ วงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท

ภาคประชาสังคมจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวให้ทางจังหวัดยุติโครงการ และเรียกร้องให้กรมธนารักษ์ยุติสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทเอกชน ที่กำลังจะหมดสัญญาในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 70,000 รายชื่อ ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผ่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่รัฐสภา ก่อนที่กรมธนารักษ์จะตอบรับความพยายามด้วยการยุติสัญญาเช่าที่ดินแปลงนี้กับเอกชน และนำมาสู่การปิดฐานการผลิตกระดาษลงในเดือนตุลาคม 2561

 

 

เปิดแผน ปชช.พัฒนาโรงงานกระดาษเก่า

“ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์” เป็นแนวคิดการแบ่งพื้นที่ใช้สอยผ่านจุดเด่น 4 ภูมิของกาญจนบุรี คือ ภูมิศาสตร์ที่ดี ภูมิทัศน์ที่งดงาม ภูมิประวัติที่ยาวนาน และภูมิธรรมที่น่าบอกเล่า โดยมีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติชาว จ.กาญจนบุรีเป็นที่ปรึกษา ภาคประชาสังคมกลุ่มภูมิเมืองกาญจน์ ได้จัดเวทีประชาสัมพันธ์ให้คนในจังหวัดรับรู้และร่วมออกแบบกลไกการบริหารจัดการ นำมาสู่แผนเบื้องต้นในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเป็นหุ้นส่วนกลไกการขับเคลื่อน

 


นางสาวจิตตินทร์ ฤทธิรัตน์ ตัวแทนภาคประชาสังคมกลุ่มภูมิเมืองกาญจน์ ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสว่า ตลอด 1 ปีมานี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ ก็ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบและด้านในรั้วโรงงานบางส่วน จากความร่วมมือของประชาชนและจังหวัด แต่ตัวอาคารและทรัพย์สินที่ยังเป็นกรรมสิทธิ์เจ้าของเดิม ถือเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดอนาคตเมืองแบบมีส่วนร่วม

ภาคประชาชนรอคอยให้สิ่งนี้ได้รับการแก้ไข ต้นเหตุจริงๆเกิดจากการทำสัญญาซื้อขายในอดีตระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เคยเช่าพื้นที่ตรงนี้ เรื่องนี้น่าจะเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐที่จะเจรจาซื้อคืน

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง