ช่องว่าง! ปลดล็อกมาตรา 7 สู่ 2 คดีวัดตัดไม้หวงห้าม

สิ่งแวดล้อม
13 พ.ย. 62
13:03
2,975
Logo Thai PBS
ช่องว่าง! ปลดล็อกมาตรา 7 สู่ 2 คดีวัดตัดไม้หวงห้าม
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบหลังกรมป่าไม้ปลดล็อกมาตรา 7 ให้ตัดไม้หวงห้ามในเขตที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเองได้แล้ว พบเริ่มมีปัญหาการสวมตัดไม้จากแปลงอื่นมาใช้โฉนดชาวบ้านตัดไม้ ขณะที่พบวัด 2 แห่งใน จ.นครศรีอยุธยา และ จ.นครนายก ตัดไม้ขนาดใหญ่ แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลพบว่าช่วง 1 ปี หลังพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ.2562 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ในมาตราที่ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งระบุว่ามาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ พบการใช้ช่องทางมาตรา 7 แล้วหลายกรณี ล่าสุดเมื่อ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีเจ้าหน้าที่ ทสจ.เกี่ยวข้องในการช่วยฟอกไม้หวงห้าม ต้นยางนานอกแปลงโฉนดที่ดินเข้าไปสวมสิทธิในที่ดินมีโฉนดของชาวบ้านในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทสจ.คนดังกล่าวแล้ว  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ปลดล็อก ม.7 พ่นพิษ "ทสจ." เอี่ยวแก๊งตัดยางนาสวมส่งขายจีน

ภาพ:กรมป่าไม้

ภาพ:กรมป่าไม้

ภาพ:กรมป่าไม้

สืบจากเหยี่ยวไม่มีต้นไม้อาศัย

ขณะที่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน กรมป่าไม้ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการตัดไม้ 2 พื้นที่ โดยวัดแรกเกิดขึ้นที่วัดเทพคันธาราม ต.โพธิ์เอน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และวัดท่าทราย อ.เมือง จ.นครนายก 

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ระบุว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่ามีการลักลอบตัดไม้ยางบริเวณวัดเทพคันธาราม ต.โพธิ์เอน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยผู้ร้องเรียนระบุว่า ตามไปพบต้นยางนาที่วัดแห่งนี้ถูกโค่นลง เนื่องจากนกหลายชนิดเคยอาศัยที่ต้นไม้ในวัด เมื่อไม่มีต้นไม้นกจึงไม่กลับมาอีก 

เมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยนายณัฐวุฒิ พิมพ์รัตน์ เป็นผู้นำตรวจสอบบริเวณกองไม้ยางที่ได้ทำการตัดโค่นล้มลง และตัดทอนเป็นท่อนแล้ว ได้แจ้งว่าต้นยางยืนต้นตาย หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะเกิดอันตรายกับประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่วัดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยทางวัดเทพคันธาราม มีหนังสือแจ้งต่อนายอำเภอท่าเรือ เพื่อขออนุญาตตัดไม้ยางดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา

มีการขออนุญาตตัดฟันไม้ยางนา 2 ต้น พร้อมกับแจ้งว่าวัดเทพคันธาราม มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทโฉนดที่ดิน (น.ส.4 จ) เลขที่ 22518 เลขที่ดิน 262 ต.โพธิ์เอน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 48 ไร่

จากการตรวจสอบไม้ยางที่ถูกตัดโค่นล้มลง 2  ต้น ตามที่นายณัฐวุฒิ พิมพ์รัตน์ ได้นำชี้บริเวณตอไม้ที่ถูกตัดโค่น พบว่ามีการตัดทอนเป็นท่อนแล้ว จำนวนทั้งหมด 74 ท่อน ไม่รวมกิ่ง

ภาพ:กรมป่าไม้

ภาพ:กรมป่าไม้

ภาพ:กรมป่าไม้

ชาวบ้านร้องหาคนรับผิดชอบตัดไม้วัดท่าทราย

ส่วนวัดแห่งที่ 2 มีการร้องเรียนผ่านสื่อโซเซียลมีเดียเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า มีกลุ่มอิทธิพลเข้าตัดต้นยางนา และต้นตะเคียนทองภายในวัดท่าทราย อ.เมือง จ.นครนายก เพื่อแปรรูปนำออกไปขาย สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน เนื่องจากต้นตะเคียนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี

จากการตรวจสอบของชุดพยัคฆ์ไพรและเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง พบมีการตัดไม้ 2 จุด จุดแรกพบไม้ยางนาจำนวน 3 ตัน อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ต้นตะเคียนทอง 1 ต้น ต้นมะขาม 2 ต้นถูกตัดโค่นลง โดยรอบพบมีการแปรูปไม้จำนวนมาก จุดที่ 2 ห่างจากจุดแรกประมาณ 20 เมตร ติดอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย พบไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ ถูกตัดโค่นลง 3 ต้น และถูกตัดทอนออกยาวประมาณ 2 เมตร ไม่พบการแปรรูปไม้ ไม้ตะเคียนทองที่ถูกตัดยืนต้นตาย 2 ตัน และอีกต้นยังไม่ตาย

เจ้าหน้าที่ได้เชิญกำนัน และผู้นำท้องถิ่นเข้าให้ข้อมูล อ้างว่า ต้นยางนาและต้นตะเคียนถูกตัดลงโดยกลุ่มคณะกรรมการวัดชุดหนึ่ง ซึ่งจุดที่ตัดอยู่ริมแม่น้ำ เป็นต้นยางที่ยืนตันตายและตัดออกเพราะการก่อสร้างตลิ่งกั้นน้ำ

ต้นตะเคียน 3 ต้น กรรมการวัดได้ดำเนินการเอง โดยไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ชาวบ้านทราบ จากนั้นได้สอบถามเจ้าอาวาสวัด ให้ข้อมูลว่า ทางคณะกรรมการวัดดำเนินการกันเอง

จากการสอบสวนคณะกรรมการวัด ให้ข้อมูลว่า ไม้ที่ตัดเป็นไม้ที่ยืนต้นตาย และต้องการขายไม้เพื่อนำเงินมาสร้างศาลาริมน้ำ แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจ

ที่ดินกรรมสิทธิ์-ช่องว่างตัดไม้หวงห้ามในเขตวัด

จากการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดิน พบว่ามีการขอยื่นออกโฉนด โดยนำหลักฐานเดิมเป็น สค.1 ไปขอออกโฉนด และได้มีการรังวัดพื้นที่ไปตั้งแต่ปี 2558 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เอกสารโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่และผู้นำท้องถิ่นจึงรวบรวมข้อมูล ร่วมกันทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิทางที่ดินว่าถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้อง กรมป่าไม้จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และเจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้ผู้ใหญ่บ้านดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์ไว้ในเบื้องต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพ.ร.บ.ป่าไม้ ปลดล็อกปลูกไม้หวงห้าม

สำหรับไม้แปรรูปที่ยังไม่ได้ขนออกไป เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ทางวัดเก็บรวบรวมไว้ได้ทั้งหมด 53 แผ่น/เหลี่ยม เป็นยางไม้ยาง 96 แผ่น/เหลี่ยม ตะเคียนทอง 7 แผ่น/เหลี่ยม ในส่วนของการดำเนินการก่อสร้างได้ให้ผู้รับเหมาระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ต้นไม้ที่เหลืออยู่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการก่อสร้าง และให้ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อรักษาไว้ต้นไม้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป

 

ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม้ที่ทางคณะกรรมการวัดได้ตัดทอนและกองรวมไว้นั้น เป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญ ตามมาตรา 7 ไว้ว่าไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม

ไม้ที่ปลูกหรือขึ้นอยู่แล้วในที่ดินบริเวณวัดตัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และการแปรรูปไม้ที่ได้มาจากที่ดินดังกล่าวก็ไม่ต้องขออนุญาต ตลอดจนการมีไม้ท่อน และไม้แปรรูปจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองก็ไม่ต้องขออนุญาตเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง วัดท่าทราย แจ้งความ กก.วัดลักทรัพย์ตัดไม้หวงห้าม

หนุนวัด-โรงเรียนร่วมรักษาต้นไม้ใหญ่ 

นอกจากนี้ กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อขอความร่วมมือพิจารณากำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อแจ้งวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการมีส่วนร่วมผลักดันการอนุรักษ์ ดูแลรักษาต้นไม้และพันธุ์ไม้มีค่าในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบให้คงอยู่คู่ศาสนสถาน เพื่อเป็นร่มเงาแก่พุทธศาสนิกชนต่อไป

กรมป่าไม้ ยังได้ประสานแจ้งเป็นหนังสือขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งให้หน่วยงาน สถาบันการศึกษา และโรงรียนต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ร่วมกันอนุรักษ์ไม้ทรงคุณค่าในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ และช่วยกันรณรงค์ปลูกต้นไม้ให้เกิดความร่มรื่น และเป็นสมบัติของชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้องศูนย์ดำรงธรรม "ทวงคืน" ไม้ศักดิ์สิทธิ์ วัดท่าทราย

จี้หาคนผิด ปมลอบตัดไม้หวงห้ามวัดท่าทราย

ร่อนหนังสือด่วน! พศ.ระงับวัดตัดไม้ตาม ม.7 ปมถูกตัดขาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง