พิษเศรษฐกิจ กระทบปิดโรงงาน

เศรษฐกิจ
13 พ.ย. 62
19:23
10,977
Logo Thai PBS
พิษเศรษฐกิจ กระทบปิดโรงงาน
ผลกระทบจากสงครามการค้า 1 ปี รุนแรงจนทำให้ส่งผลต่อการจ้างงานแล้ว แต่นี่อาจจะเป็นแค่เผาหลอก เพราะ ถ้าสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าตัดสิทธิจีเอสพีไทย ถ้าจะเรียกว่า ปีหน้าเผาจริง คงจะไม่ผิดรึเปล่า ต้องไปดูว่า ผลกระทบที่จะส่งผลต่อการส่งออกไทยมากน้อยแค่ไหน

นับตั้งเเต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ข่าวโรงงานทยอยปิดตัว ลดการทำงาน รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานและลูกจ้าง ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ ปัญหานี้ส่อเค้ารุนเเรงมากขึ้น เมื่อดูข้อมูลล่าสุดของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งเเต่ ม.ค. - ต.ค.ปีนี้ มีธุรกิจจดทะเบียนเลิกมากกว่าปีก่อน ร้อยละ 2.08 หากเทียบปีต่อปี ปีนี้จดทะเบียนเลิก 14,070 แห่ง ขณะที่ปีก่อน 13,782 แห่ง

ประเภทธุรกิจที่เลิกสูงสุดในช่วง 2 ปีนี้ ก่อสร้างอาคารทั่วไป เลิกกิจการสูงสุด โดยปี 2561 เลิกกิจการ จำนวน 2,042 แห่ง และปี 2562 จำนวน 1,353 ซึ่งเป็นตัวเลขถึง ต.ค.เท่านั้น ขณะที่กิจการอื่น ๆ ที่มีการเลิกกิจการสูงเช่นกัน ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร

รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เนื่องจากยังมีเงินลงทุนใหม่ ๆ โดยปี 2562 การลงทุนจากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการโรงงานเดิมมีประมาณ 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 36.6 เมื่อมาไล่ดูตัวเลข ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 12 พ.ย.2562 แม้มีการยื่นขอปิดกิจการโรงงาน 1,391 โรงงาน แต่มีการขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่ถึง 2,889 โรงงาน โรงงานเปิดใหม่ จึงมากกว่าปิดกิจการ กว่าเท่าตัว (107%)

 

ส่วนการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการ ที่มีกว่า 35,533 คน แต่อีกด้านมีการจ้างงานใหม่ 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่ม จากการขยายโรงงานอีก 84,704 คน แต่ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยดูจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม ผู้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน คาดว่าสิ้นปีจะมีผู้ขอรับสิทธิถึง 200,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2557 ที่ คสช.เริ่มเข้ามาบริหาร ที่มีผู้ขอรับสิทธิเพียง 106,789 คน

 

พร้อมประเมินว่าในปีหน้าอาจจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น จากอัตราการว่างงานร้อยละ 1 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 2 หรืออยู่ที่ประมาณ 600,000 คน จากปัญหา การส่งออกที่ลดลงจากปัญหาสงครามการค้า การถูกตัดจีเอสพีจากสหรัฐอเมริกา

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ยังระบุว่า การเตรียมตัวรับมือควรใช้จ่ายอย่างประหยัด เก็บออมรองริบ ส่วนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ควรมีการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะต้องสนับสนุนการฝึกอบรม

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ

สำหรับปีหน้าโอกาสการรับแรงงานใหม่เข้าสู่ระบบอาจจะมีน้อยกว่าปีนี้ เพราะโรงงานส่วนใหญ่ต้องการรัดเข็มขัดและลดต้นทุน ยกเว้นในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น การลงทุนในโครงการอีอีซี ส่วนบัณฑิตที่จบใหม่ พบว่า ขณะนี้มีการว่างงานถึงประมาณกว่า 130,000 คนเมื่อเทียบกับแรงงานที่ว่างงานทั้งหมด

เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานกรรมการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า ตอนนี้ยอดคำสั่งซื้อลดลง ทำให้ทุกคนต่างระมัดระวัง และงานบางส่วนต้องใช้เทคโนโลยีเเทนแรงงาน เพื่อบริหารต้นทุนเเละเพิ่มผลผลิต การปิดโรงงานหรือเลิกจ้าง ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาการค้าเท่านั้น แต่เป็นผลมาจากเงินบาทที่เเข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งบั่นทอนความสามารถในการเเข่งขันของไทย ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วน เลือกย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เพื่อความอยู่รอด

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง