ถอดรหัส แถลงการณ์อ้าง "บีอาร์เอ็น"

ภูมิภาค
13 พ.ย. 62
19:26
791
Logo Thai PBS
ถอดรหัส แถลงการณ์อ้าง "บีอาร์เอ็น"
ถอดรหัส แถลงการณ์ "บีอาร์เอ็น" ยอมรับอยู่เบื้องหลังเหตุยิงถล่ม ชรบ.ลำพะยา โจทย์ที่ฝ่ายความมั่นคงอาจต้องวิเคราะห์ แถลงการณ์ฉบับนี้จริงหรือไม่ หากจริงบีอาร์เอ็นกำลังสื่อสารถึงอะไร

เนื้อหาในแถลงการณ์ ที่ปรากฎในเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า BRN Barisan Revolusi National แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียชีวิตของประชาชน จากเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชรบ.) ใน ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 5 คน พร้อมย้ำว่า ยังคงยึดมั่นในแนวทางสันติภาพที่มีความจริงใจในการปฏิบัติ ไม่ใช่อย่างที่รัฐบาลไทยกำลังทำในขณะนี้ ที่ดูเบื้องหน้าเหมือนพยายามพูดคุยสันติสุข แต่เบื้องหลังได้สั่งกำลังพลให้ดำเนินการทุกรูปแบบต่อประชาชน ทั้งการอุ้มฆ่า และการสังหารอย่างถูกกฏหมายโดยใช้กฎหมายพิเศษ และการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมโดยไม่ได้รับการยินยอม

แม้แถลงการณ์ฉบับนี้จะถูกนักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ไช่ของจริง เพราะเพจที่มาของ "แถลงการณ์" พิมพ์ชื่อองค์กร BRN ผิด โดยเฉพาะตัวสะกด คำว่า Nasional ที่ต้องมีอักษรตัว s หน้าตัว อักษรตัว I แทนตัว T ในภาษาอังกฤษทั่วไป

แต่สำหรับนายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกกลุ่มมาราปาตานี ได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า แม้แถลงการณ์ฉบับนี้จะไม่ได้มีการนำเสนอผ่าน นายอับดุล การิม คาลิด โฆษกบีอาร์เอ็น เหมือนที่ผ่านมา แต่เนื้อหาและเวลาที่เผยแพร่ มีความเป็นไปได้ว่า เป็นแถลงการณ์จริงของบีอาร์เอ็น และแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงเหตุโจมตี ที่ ต.ลำพะยา แต่หากดูเนื้อหาอย่างละเอียด พบว่า บีอาร์เอ็นยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงครั้งนี้ และต้องการส่งสัญญาณมายังทางการไทย จึงขึ้นอยู่ว่า รัฐไทยจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น เพื่อเปิดทางให้กระบวนการสันติภาพได้เดินต่อ หรือปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งอาจทำให้ปัญหาภาคใต้กลับมาคุโชนอีกครั้ง และเหตุรุนแรง ต.ลำพะยา ก็อาจไม่ใช่เป็นความไม่สงบครั้งสุดท้าย

นอกจากนี้ ในบทความที่ถูกเขียน โดยโฆษกกลุ่มมาราปาตานี ยังไล่เรียงกระบวนการพูดคุยสันติสุข กับรัฐบาลไทย ตั้งแต่เดือน ก.พ.2556 ซึ่งระบุว่า อยู่ในสายตาของกลุ่มบีอาร์เอ็นมาโดยตลอด และได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ต่อเนื่อง เพื่อย้ำว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุข ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ มีนานาชาติร่วมสังเกตการณ์ และผู้ไกล่เกลี่ยหรือคนกลาง ต้องมีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง ซึ่งกระบวนการทั้งหมด จะต้องเห็นชอบร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้คิดต่าง และรัฐบาลไทย ที่ต้องแสดงถึงความจริงใจและให้การยอมรับผู้เห็นต่าง

นอกจากนี้ นายอาบูฮาฟิส ย้ำว่า ยังมองไม่เห็นความจริงใจของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัว หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ มาเป็น พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ จึงเสนอให้ทางการไทยทบทวน และประเมินนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการพูดคุย

ทั้งนี้ โฆษกกลุ่มมาราปาตานี ระบุว่า บทความดังกล่าว เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ท่าทีอย่างเป็นทางการของกลุ่มมาราปาตานี

ด้านนายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เชื่อว่า แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นน่าจะเป็นของจริง และการกล่าวอ้างถึงชาวมาลายูสยาม สะท้อนให้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็น ยอมรับถึงการมีตัวตนของคนไทยพุทธ แต่ก็กังวลถึงท่าทีของบีอาร์เอ็นที่ระบุว่า หากรัฐไทยไม่เดินหน้าการพูดคุยก็อาจทำให้ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากในขณะนี้กระบวนการพูดคุยยังหยุดชะงัก โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย มาเป็น พล.อ.วัลลภ ซึ่งคนในพื้นที่แทบจะไม่รู้จัก และการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจก็อาจต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐต้องเปิดพื้นที่กลางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ และทำหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชน ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ไม่สมควรที่จะใช้วิธีทำร้ายคนในพื้นที่เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกิดเหตุยิงถล่มป้อม ชรบ.ยะลา มีรายงานผู้เสียชีวิต 14 คน

โฆษก ทภ.4 ชี้หลักฐานโยงตระกูล “หลำโซะ” เหตุยิงถล่ม ชรบ.ยะลา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง