"กรมป่าไม้" ทบทวนที่ดิน สปก. 3.6 ล้านไร่

สิ่งแวดล้อม
14 พ.ย. 62
12:15
27,659
Logo Thai PBS
"กรมป่าไม้" ทบทวนที่ดิน สปก. 3.6 ล้านไร่
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เร่งหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมขอคืนที่ดิน สปก.3.6 ล้านไร่ หลังสำรวจสภาพพื้นที่ยังคงสภาพป่า 1.2 ล้านไร่ ส่วนอีก 1.4 ล้านไร่ ต้องยกเลิกหนังสืออนุญาต เพราะนำไปใช้ปฎิรูปนอกเขต

วันนี้ (14 พ.ย.2562) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า นโยบายการปฏิรูปที่ดิน ที่กรมป่าไม้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มอบให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ตั้งแต่ปี 2536 ช่วงนั้นมอบไปประมาณ 40 ล้านไร่ และมีบางส่วนที่กันคืนมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการอนุรักษ์ไว้ มีสภาพป่าคืนมา 13.6 ล้านไร่ แต่มีบางส่วนที่มีสภาพป่า หรืออยู่ในเงื่อนไขที่ไม่สามารถจัดพื้นที่ สปก. ประมาณ 5 ล้านไร่ และเมื่อตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่ามีพื้นที่ป่า 3 ล้านไร่เศษ ส่วนที่เหลือมีการจัด สปก.แล้ว 

สำหรับกระบวนการเข้าไปจัด สปก. มีบางส่วนมีการทับซ้อนในการออก สปก. บางครั้งออกนอกเขตพื้นที่พระราชกฤษฎีกา หรือเข้ามาในเขตป่าสงวน แต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลแต่ละช่วงมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาของประชาชน

 

นายอรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายนโยบายชัดเจนในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทส. และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับที่ดิน สปก. เพราะแต่ละหน่วยงานมีเพียงข้อมูลของตัวเองเท่านั้น โดยจะใช้หลักการวันแมป ในการปรับให้เป็นเส้นที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งภาคราชการ และประชาชน กรมป่าไม้ กรมอุทยาน และนิคมฯ ต้องหารือว่าที่ตรงนี้ควรยุติ หรือจัดสรรอย่างไร ต้องเป็น สปก.ต่อ หรือกันคืนมา รวมทั้งผู้ที่เข้าไปอยู่ทำกินมีคุณสมบัติหรือไม่

เบื้องต้นประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเพื่อหารือให้ได้ข้อยุติ ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด รวมทั้งกระทบประชาชนน้อยที่สุด

ตัวเลขทวงคืนที่ดิน สปก.

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจปี 2557 พบพื้นที่ยังมีสภาพป่า 1.2 ล้านไร่ อยู่ในส่วนการแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ และเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 หากบุคคลใดเป็นผู้ยากไร้และกินมาก่อนปี 2557 จะได้รับสิทธิพิจาณาดำเนินการตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ส่วนการบุกรุกพื้นที่ภายหลังปี 2557 ก็ต้องถูกดำเนินคดี

ในการทำข้อมูลเมื่อ 17 มิ.ย.2557 หากพบพื้นที่มีสภาพป่าอยู่ ต้องประสาน สปก.ขอคืนมาอยู่ในความดูและของกรมป่าไม้

ขณะที่พบว่าในพื้นที่หลายจังหวัดมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทั้ง สปก. และพื้นที่นิคมสร้างตนเอง เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอีกหลายจังหวัด ที่ต้องแก้ไขให้เป็นเงื่อนไขเดียวกัน อาจกำหนดหลักการ และหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ 

ตรงไหนที่สมควรอนุรักษ์ไว้ มีความล่อแหลม มีความเปราะบางต่อพื้นที่ในเรื่องของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ควรเป็นพื้นที่ที่สงวนคุ้มครองไว้ ก็จะอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ

เล็งใช้ "วันแมป" แก้ปมที่ดินทับซ้อน 

เมื่อถามว่าจะมีการกำหนดเวลาในการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนเมื่อใด อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ ต้องหารือกับคณะทำงานร่วมก่อนทั้ง 3 กระทรวง และรวบรวมข้อมูลนำสนอต่อคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าควรว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใด เพราะขณะนี้ข้อมูลพื้นฐานขอบเขตแต่ละฝ่าย ยังถือที่เป็นข้อมูลของตัวเอง ซึ่งการเสนอข้อมูลจะต้องมีการคัดกรองจาก 3 หน่วยงานหลักก่อน 

การแก้ปัญหาต้องใช้หลักการของวันแมป ที่ต้องปรับให้เป็นเส้นที่เหมาะสม ถูกต้อง เกิดประโยชน์ทั้งภาคราชการและประชาชน 

ไม่ดันเข้าโฉนดทองคำ

นอกจากนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า พื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปทำกินอยู่นานแล้ว หรือทำกินอยู่เดิม ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงให้กลับมาเป็นสภาพป่า เพราะการแก้ปัญหาทั้งหมดต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานภาพ และสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่การปลดล็อกปัญหาจะนำไปสู่นโยบายโฉนดทองคำหรือไม่ นายอรรถพล ระบุว่า ต้องมองสภาพความเป็นจริง ผู้ที่อยู่ในที่ดินของรัฐ ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือที่สาธารณะอื่น ๆ หากอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่สามารถนำเขาออกมาได้ เพราะไม่มีที่ดินทำกินรองรับ ก็ต้องแก้ไขปัญหา เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินคดีกลุ่มดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ

ถ้าเป็นกลุ่มที่มีคุณสมบัติจริงก็ต้องแก้ไขในส่วนที่ทำได้ ให้มาอยู่ในการจัดระเบียบของรัฐ เพราะที่ดินเป็นของรัฐ ไม่ได้มอบให้เป็นสิทธิส่วนตัว แต่เป็นการรับรองสิทธิให้อยู่อย่างถูกต้อง

ส่วนกรณีวังน้ำเขียวที่มีการบุกรุกโดยนายทุน เป็นปัญหาที่มีส่วนทั้งผู้ยากไร้และผู้มีฐานะ ที่ไปซื้อที่ดินมาก่อสร้างรีสอร์ท หรือโรงแรม การแก้ปัญหาต้องแบ่งกลุ่มให้ชัดเจน ว่าใครควรจะได้สิทธิ หรือใครไม่ควรจะได้รับสิทธิ โดยต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ แต่สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ คือ ให้สิทธิกับผู้ยากไร้ที่อยู่ทำกินเดิมแล้ว แต่เสียสิทธิ เช่น พื้นที่ทับซ้อนแนวเขตต่าง ๆ

สรุปพื้นที่ระหว่างเขตปฏิรูปที่ดินและเขตป่าไม้

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ ระบุว่า มีการมอบพื้นที่ให้ สปก. 44 ล้านไร่ ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.2535 ถึง 30 ธ.ค.2536 ดังนี้ 

  • พื้นที่เหมาะสมต่อการเกษตร (A) 7 ล้านไร่
  • พื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (E) 37 ล้านไร่
  • กันคืน 13.6 ล้านไร่ มติ ครม. เมื่อ 1 มี.ค.2537

กรมป่าไม้กันคืน 7 ลักษณะ 13.6 ล้านไร่ บันทึกข้อตกลง 13 ก.ย.2538 โดย 7 ลักษณะพื้นที่กันคืนกลับกรมป่าไม้ ได้แก่ พื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่า, พื้นที่ที่มีศักยภาพทำเกษตรไม่คุ้มค่า, พื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ, พื้นที่ภูเขาสูงชัน พื้นที่ต้นน้ำลำธาร, พื้นที่มีภาระผูกพัน, ป่าชายเลน, ป่าเสื่อมโทรมไม่มีราษฎรถือครอง

นอกจากนี้ พื้นที่ที่ สปก. ต้องคืนกรมป่าไม้เพิ่มเติม 2 ประเภท ได้แก่

  • พื้นที่คงสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2545 จำนวน 3.6 ล้านไร่
  • พื้นที่คงสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2557 จำนวน 1.2 ล้านไร่

ส่วนพื้นที่ สปก. สำรวจรังวัดออกนอกพื้นที่รับผิดชอบ 1.4 ล้านไร่ ต้องยกเลิกหนังสืออนุญาต

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่ผิด! บ้านไร่ชัยราชพฤกษ์เป็นเขตที่ดิน สทก.

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง