สธ.แนะวิธีป้องกัน-ควบคุม ไม่ให้ติดต่อ“ไวรัสเมอร์ส”

สังคม
19 มิ.ย. 58
08:52
134
Logo Thai PBS
สธ.แนะวิธีป้องกัน-ควบคุม ไม่ให้ติดต่อ“ไวรัสเมอร์ส”

ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ “ไวรัสเมอร์ส” เป็นรายแรกของประเทศไทย ในขณะที่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยแล้วกว่า 25 ประเทศ

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข แถลงเมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.2558) ยืนยันพบผู้ป่วยไวรัสเมอร์สเป็นรายแรกของประเทศไทย เป็นชายชาวตะวันออกกลาง เดินทางมาจากประเทศโอมาน ขณะนี้ผู้ป่วยอาการทรงตัว และรับการรักษาอยู่ห้องแยกโรค

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ให้รายละเอียดของการแพร่กระจายของโรคดังกล่าวดังนี้

องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) ระบุ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือไวรัสเมอร์ส ทั้งหมด 1,321 คน เสียชีวิตแล้ว 466 คน ขณะที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรป (ECDC: European Centre for Disease Prevention and Control) รายงานเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วยทั้งหมด 1,307 คน เสียชีวิต 500 คน โดยมีรายงานผู้ป่วยทั้งหมดจาก 25 ประเทศ ดังนี้ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต์ เยเมน เลบานอน อิหร่าน ตุรกี อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ เนเธอร์แลนด์ ออสเตเรีย ตูนีเซีย แอลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน

นอกจากนี้ยังแนะนำมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโรค ดังนี้ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส มีระยะฟักตัวใน 2-4 วัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไวรัสเมอร์ส มักมีอาการไข้ไอ บางรายจะมีอาการในระบบทางเดินอาหาร ท้องร่วงร่วมด้วย บางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีหายใจหอบและหายใจลําบาก ปอดบวม และพบว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ

สำหรับมาตราการป้องกันสำหรับผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวและสำหรับบุคคลทั่วไปที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากเดินทางเข้าในประเทศที่มีการควรปฏิบัติ คือ
1.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่มีอาการไอ หรือจาม
2.ผู้มีโรคประจําตัวที่เสี่ยงต่อการป่วย อาจพิจารณาสวมหน้ากากป้องกันโรค และเปลี่ยนบ่อยๆ เมื่อเข้า
ไปในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ
3.ควรล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยสัมผัส
4.หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสกับฟาร์มสัตว์หรือสัตว์ป่าต่างๆ หรือดื่มนมสัตว์โดยเฉพาะอูฐ ซึ่งอาจเป็น
แหล่งรังโรคของเชื้อได้
5.ถ้ามีอาการไข้ไอ มีน้ํามูกเจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่นเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อไอ หรือจามควรใช้กระดาษชําระปิดปากและจมูกทุกครั้ง ทิ้งกระดาษชําระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ควรไอหรือจามลงบนเสื้อผ้าบริเวณต้นแขน ไม่ควรจามรดมือและรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

สำหรับมาตรการควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งมีความสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสเมอร์
องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อ ติดตาม แยกกักและผู้เฝ้าดูอาการที่มีประวัติสัมผัสเชื้อ แม้จะไม่มีอาการป่วย เน้นการจัดการเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ การกำจัดของเสีย การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ และควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากละอองฝอย

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกรายงานผู้ป่วยสงสัย ผู้ป่วยยืนยัน พร้อมข้อมูลประกอบมายังองค์การอนามัยโลกอย่างรวดเร็ว และไม่แนะนำให้มีการคัดกรองพิเศษบริเวณทางเข้า-ออกประเทศ และการจัดการเดินทางหรือการค้าแต่อย่างใด

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคปอดเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อเมอร์ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอูฐการเยี่ยมชมฟาร์มสัตว์ตลาด หรือสถานที่เก็บผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง