"ว่างงาน" ฝันร้ายที่ไม่ใช่ของใครคนเดียว

เศรษฐกิจ
14 พ.ย. 62
17:37
2,251
Logo Thai PBS
"ว่างงาน" ฝันร้ายที่ไม่ใช่ของใครคนเดียว

ข่าวการปิดตัวลงของโรงงาน สถานประกอบการหลายแห่ง อาจจะทำให้งานในมือของแต่ละคน กลายเป็นสิ่งไม่แน่นอน โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือ แม้แต่โรงงานผลิตสินค้าส่งออก ที่คงเห็นสัญญาณเตือนมาสักพัก จากเครื่องจักรที่แทบไม่ได้ผลิตชิ้นงานเลย ทั้งๆที่นี่คือช่วงปลายปี สินค้าควรจะขายดิบขายดีต้อนรับปีใหม่และคริสต์มาส

“ทำไมคนไทย ตกงาน”

ส่งออกของไทย ซึ่งเป็นรายได้ ร้อยละ 60 ของประเทศ กำลังบาดเจ็บรุนแรง คิดดูสิว่า ถ้าประเทศไทยคือ มนุษย์พ่อคนหนึ่ง จู่ๆรายได้หายไป 60 % เพราะลูกค้าของพ่อ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และ จีน ฐานะการเงินสั่นคลอน หาเงินได้ไม่เก่งเท่าเดิม อย่างเพื่อนคนจีน มีรายได้ต่ำสุดในรอบ 27 ปี เขาก็ต้องระมัดระวังการทำธุรกิจกับพ่อไทยแน่ๆ

แต่พอหันกลับมาดูลูกๆในบ้าน ค่าอาหาร ค่าเทอม ค่าหมอ ค่าน้ำมัน รอมนุษย์พ่อคอยหาเงินมาจ่ายให้ แล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน จึงไม่แปลกที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง เริ่มพบแนวโน้มหนี้เสียในกลุ่มผู้ประกอบการเริ่มสูงขึ้น

อาจจะมีบางธุรกิจที่เติบโตได้ดี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง อย่าง อาจารย์สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ มองว่า เจริญแค่หยิบมือเดียว คนรวย 1 % ที่ถือครองจีดีพี 60 % ของประเทศ รวยกันอยู่ไม่กี่ตระกูล ชนชั้นกลางไม่ได้ประโยชน์จากจีดีพีนี้เลย

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

“ตกงาน ไม่ใช่โชคร้ายของใครคนใดคนหนึ่ง”

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า สำหรับผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์จากคนที่ตกงาน ก็คือคนจะไม่มีรายได้ เมื่อคนไม่มีรายได้ก็จะไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งทำให้สินค้าที่ถูกผลิตออกมาเหลือค้างสต๊อก

ถ้ามองในเชิงของภาคธุรกิจ ก็คือยอดขายและกำไรที่อาจจะลดลง ทำให้จ้างงานลดลง และยิ่งเพิ่มปัญหาคนตกงาน

ถ้ามองในภาคประชาชน การตกงาน อาจจะส่งผลกระทบ ต่อคุณภาพชีวิต ของคนในสังคม อาจจะทำให้บุตรหลานหรือลูกไม่ได้เข้าโรงเรียน หรืออาจจะไม่มีเงินไปซื้ออาหารทำให้เกิดปัญหาการขาดสารอาหารในครัวเรือนที่ยากจน และถ้าปัญหาหนักมากอาจจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในสังคมเพิ่มขึ้น

ในเชิงของภาครัฐการตกงานจะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ลดลง ทั้งภาษีที่มาจากฐานของรายได้และภาษีที่มาจากฐานของการบริโภค ดังนั้นการเก็บภาษีอาจคลาดเคลื่อน ทำให้งบประมาณของภาครัฐอาจจะขาดดุลหนักมากขึ้นกว่าประมาณการท้ายสุดอาจจะตามมาด้วยหนี้สาธารณะ ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

“ถ้าตกงาน กลับบ้านทำเกษตรดีไหม”

ใครตกงานส่วนใหญ่ก็จะกลับบ้านไปทำเกษตร ทำให้ภาคเกษตรสามารถช่วยดูดซับแรงงานและลดผลกระทบจากปัญหาการว่างงานได้ แต่สินค้าเกษตรหลายตัวเป็นสินค้าที่ซื้อขายในตลาดโลก ดังนั้นเศรษฐกิจโลกก็ส่งผลไม่แพ้เศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นแบบที่เราเรียกว่า Twin effects แถมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยก็ถดถอย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

แม้ภาครัฐจะยืนยันว่า ต้องอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลายๆโครงการจะยังทำต่อเพราะรัฐเชื่อว่าได้ผล แต่คงมีคำถามจากผู้เสียภาษีว่า แล้วเงินที่ใช้ไปคุ้มค่าจริงหรือไม่ นโยบายใหม่ๆ จะเอาเงินจากไหน เมื่อคนจ่ายภาษีทยอยตกงาน

และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้เม็ดเงินที่รัฐเติมลงมาในระบบไปไม่ถึงคนที่ต้องหมุนเงินทุกวัน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

จีดีพีที่ลดลง หนี้ครัวเรือนทะยานสูงขึ้น ที่น่ากังวล เพราะ หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนแบกรับโดยตรง เมื่อรายได้ลดลง แล้วจะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ จะไปขายของสุ่มสี่สุ่มห้าตามริมถนน ก็จะเจอกับนโยบายจัดระเบียบของรัฐ จะไปหางานใหม่ ก็คงต้องถามตัวเองว่า ทักษะ ความรู้ที่มี พอไหวกับโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปไวในทุกวันนี้หรือเปล่า

ปัญหาเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องบ่นรายวัน เพราะหากรัฐบาลยังหาทางออกไม่ได้ การแชร์ทุกข์ผ่านโลกออนไลน์ ปัญหาปากท้องก็อาจเป็นประเด็นที่ถูกขยาย กลายเป็นปมทางการเมืองได้เช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง