ตั้งคณะทำงานหาสารชีวภัณฑ์ ทดแทนสารเคมีเกษตร

สังคม
14 พ.ย. 62
19:30
823
Logo Thai PBS
ตั้งคณะทำงานหาสารชีวภัณฑ์ ทดแทนสารเคมีเกษตร
คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ตั้งคณะทำงานชุดย่อย เดินหน้าหาสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนช่วยเหลือเกษตรกร หลังมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีเกษตร จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

ด้านประธานที่ปรึกษาคณะทำงานเห็นว่า หากยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร ไม่ควรนำสารเคมีมาทดแทน เพราะหัวใจการแก้ไขปัญหาสารเคมีทั้งระบบ คือต้องเดินหน้าไปสู่เกษตรอินทรีย์ ขณะที่ภาพรวมมาตรการช่วยเหลือหลังยกเลิก 3 สาร จะมีข้อสรุปในวันที่ 22 พ.ย.นี้

 

 

เหลือเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ ที่การยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ทำให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เร่งหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือเกษตร

 

 

ซึ่งภายหลังการประชุม นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเปิดเผยว่า คณะทำงานได้รวบรวมและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในระยะเร่งด่วนที่จะต้องชดเชยเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากราคาสารที่จะนำมาใช้ทดแทน

ระยะถัดมาเป็นการใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเพื่อกำจัดวัชพืช ขณะที่ระยะยาวซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเริ่มเดินหน้าตั้งแต่ตอนนี้ คือเรื่องของสารชีวภัณฑ์ ที่นำมาใช้ทดแทนสารเคมี เพราะปัจจุบันสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร 73 รายการ มีเพียงสารกำจัดโรคพืช และศัตรูพืช อย่างแมลง ไม่มีสารกำจัดวัชพืช

ทั้งนี้ยอมรับว่าการรับรองหรือขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยังมีความล่าช้า เนื่องจากต้องมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพืชประธาน หรือพืชหลักที่ปลูกในอนาคต และให้ได้สารที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ แต่ก็จะเร่งดำเนินการเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร

คณะทำงานมีมติตั้งคณะทำงานชุดเล็ก ประกอบด้วยกรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กรมพัฒนาที่ดิน และกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ให้ทดสอบหาสารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาที่ดินบอกว่ามีความคืบหน้าในการทำวิจัยจุลินทรีย์ ที่ให้ผลในการกำจัดวัชพืช

ส่วนกรณีที่ดีเอสไอตรวจจับการหลอกลวงขายสารกำจัดวัชพืชที่อ้างว่าเป็นสารอินทรีย์ชีวภาพ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยัน ไม่มีผลทำให้การเดินหน้าเพื่อปลดล็อคการรับรองสารชีวภัณฑ์เกิดปัญหา เพราะเป็นคนละส่วนกัน การหลอกลวงแอบอ้างก็จะต้องถูกจัดการตามกฎหมาย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้วางมาตรการเพื่อควบคุมดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว

สำหรับข้อสรุปในมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหลังยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด จะมีความชัดเจนจากคณะทำงาน ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้

 

 

ก่อนหน้านี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด พร้อมด้วยคณะทำงาน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการใช้จุลินทรีย์กำจัดวัชพืชในอ้อยแปลงใหญ่ กว่า 600 ไร่ ของนายสุรินทร์ ขันทอง เกษตรกรบ้านหนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

 

 

โดยใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดวัชพืช ในพื้นที่กว่า 600 ไร่ ซึ่งใช้ต่อเนื่องมาแล้ว 7 ปี พบข้อดี นอกจากไม่ต้องกังวลต่อผลกระทบด้านสุขภาพ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพราะพบสัตว์ที่มีประโยชน์ เช่น ใส้เดือน แมลงหางหนีบที่เป็นตัวฮั่มกินไข่เพลี้ยหรือศัตรูพืช ที่ไม่ถูกทำลายไปเหมือนตอนใช้สารเคมีเกษตร ขณะที่ต้นทุนต่อไร่ ก็ไม่แตกต่างจากสารเคมีที่จะถูกยกเลิกมากนัก

 

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด บอกว่า เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ การยกเลิกทั้ง 3 สารจะมีผลบังคับใช้ จึงเป็นสิ่งที่คณะทำงานจะต้องเร่งหาทางออกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องสารและวิธีการทดแทน

เมื่อยกเลิกการใช้สารเคมีแล้ว ก็ไม่ควรที่จะนำสารเคมีตัวใหม่มาเป็นสิ่งทดแทน จากการสอบถามกรมวิชาการเกษตรยืนยันว่ามีแค่สารเคมีเกษตร และยังไม่มีสารชีวภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง จึงเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันหาแนวทางเพื่อให้เกิดการรับรองสารชีวภัณฑ์เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร

นายอลงกรณ์ ยังเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีเกษตรทั้งระบบ คือการเดินหน้าไปสู่เกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเสนอตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อมาขับเคลื่อนการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยตรง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง