แผนฝุ่นชาติ : มาตรฐานโลกไม่อยู่ที่ไทย ?

สิ่งแวดล้อม
15 พ.ย. 62
11:00
955
Logo Thai PBS
แผนฝุ่นชาติ : มาตรฐานโลกไม่อยู่ที่ไทย ?
เปิดแผนปฏิบัติการฝุ่นระดับชาติ เน้นเชิงรุก หลังสัญญาณเตือนสีส้มกระพริบหลายจุดในกรุงเทพฯ "กรีนพีซ" ชมรัฐบาลไทยตื่นตัว แต่ยังให้น้ำหนักด้านสุขภาพน้อย เสนอรัฐประกาศเตือนภัยตามค่ามาตรฐานโลก ขณะที่ นักวิชาการจุฬาฯ ระบุ ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสำคัญต่อการวางแผน


เปิดมือถือเช็กค่าฝุ่น

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องเปิดแอปพลิเคชันในมือถือเพื่อเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ในอากาศกันอีกครั้ง หลัง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ระหว่าง วันที่ 5 - 13 พ.ย.2562 หลายพื้นที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

ก่อนหน้านี้ (ก.ย.2562) พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ถูกจู่โจมด้วยหมอกควันข้ามแดนจากไฟป่าและพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่บนเกาะสุมาตรา และเกาะกาลีมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย 

   อ่านเพิ่ม : วิกฤต "ควันไฟป่า" ส่งผล 5 จังหวัดใต้ฝุ่น PM2.5 พุ่ง

 

ภาพ : Greenpeace

ภาพ : Greenpeace

ภาพ : Greenpeace


แต่นั่น ก็ไม่ทำให้เกิดคำถามต่อรัฐบาล เท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ช่วงประชุมสุดยอดอาเซียน ที่มีการรณรงค์ของนักสิ่งแวดล้อม ที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน เปิดเวทีแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เห็นเป็นรูปธรรม ตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควัน ปี 2020 จนถึง ล่าสุด ที่มีสัญญาณสีส้มของค่าฝุ่นเต็มจอมือถือ

ฝุ่นกำลังจะกลับมา รัฐบาลมีแผนรับมือหรือยัง ? คือ คำถามที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น

แผนฝุ่นชาติ

เพิ่มวันอากาศดี ลดจุดความร้อน ลดจำนวนผู้ป่วย คือ 3 ตัวชี้วัดหลักในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 หลังรัฐบาล คสช. ประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


แผนนี้วางอยู่บนหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle) โดยเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ผ่าน 3 มาตรการสำคัญ คือ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การบริหารจัดการมลพิษที่ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพ และสุดท้าย คือ มาตรการในการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง

5 แหล่งกำเนิดมลพิษที่แผนนี้จะเข้าไปจัดการ คือ มลพิษจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่งและภาคเกษตร การก่อสร้างและผังเมือง อุตสาหกรรม และครัวเรือน โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ รับผิดชอบ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ ที่จะต้องเปลี่ยนไปสู่น้ำมัน Euro 5 ภายในปี 2564 และ Euro 6 ภายในปี 2565

ขอสัก 25 ได้ไหม?

การมีแผนฯ แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาครัฐ แต่การใช้เกณฑ์ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นตัวชี้วัดในการลงมือ เหมือนให้ความสำคัญกับสุขภาพน้อยไปหน่อย


นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลในการจัดทำแผนฉบับนี้ เพราะจะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เห็นแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นได้ชัดเจนขึ้น แต่รู้สึกเสียดายที่แผนให้น้ำหนักกับสุขภาพของประชาชนน้อยเกินไป

เขายกตัวอย่าง การแบ่งระดับการปฏิบัติการที่แต่ละจังหวัดต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานของค่าฝุ่น PM 2.5 ราย 24 ชั่วโมง เป็นตัวกำหนด เช่น ระดับที่ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ให้ทุกหน่วยฏิบัติภารกิจตามปกติ จากนั้นค่อย ๆ ยกระดับปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้น ตามค่าฝุ่น PM 2.5 ที่มากขึ้น


ในช่วงที่ฝุ่นปกคลุมกรุงเทพฯ และภาคเหนือตอนบน ตัวเลข 50 เคยถูกตั้งคำถามว่า “ปอดคนไทย ไม่ได้แข็งแรงกว่าใครในโลก” ทำไมไม่ปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ให้ต่ำกว่านี้ แน่นอนว่า แผนฉบับนี้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ก็ระบุไว้เพียงให้พิจารณาความเหมาะสมในการปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ 37 มคก./ลบ.ม. ภายในปี 2565-2567

ผู้อำนวยการกรีนพีซ ฯ เสนอให้รัฐบาล ใช้ตัวเลขค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ WHO แนะนำ คือ 25 มคก./ลบ.ม. มาแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังด้านสุขภาพได้เลย ไม่ว่าในอนาคตจะมีการปรับค่ามาตรฐานตามแผนฯ ที่ระบุไว้หรือไม่

87 สถานีทั่วไทย ไม่พอ

การผูกปฏิบัติการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศไว้กับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ราย 24 ชั่วโมง ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดต่อว่า ข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจจะมาจากไหน? ในเมื่อสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่สามารถวัดค่า PM 2.5 ทั่วประเทศมีอยู่เพียง 87 สถานี


กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ขึ้นชื่อว่า มีความพร้อมมากที่สุด มีแค่ 36 สถานีเท่านั้น ที่สามารถวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้

รศ.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรามีข้อมูลปริมาณฝุ่นที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจแก้ปัญหาตามแผน รวมถึงใช้ข้อมูลนี้แจ้งเตือนประชาชนได้


ปลายปีนี้ กรุงเทพมหานคร จะติดตั้งสถานีตรวจวัดฯ ที่สามารถวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ครบทั้ง 50 เขต และจะมีการขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ แต่สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกับทีมวิชาการ ทำโมเดลจำลองการกระจายตัวของฝุ่น ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์ปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นในพื้นที่ได้


ขณะที่ เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระดับชุมชน ภายใต้ชื่อต่าง ๆ เช่น Dust Boy และ ยักษ์ขาว เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลในการเตือนภัยได้

แต่โจทย์ที่ท้าทาย คือ การพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมต่อข้อมูล พร้อมไปกับการสร้างเครือข่ายติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ซึ่งในแผนปฏิบัติการฉบับนี้ ระบุไว้ แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน และเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหา หรือไม่ ยังเป็นคำถาม ที่ไม่มีคำตอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อง "นโยบายกระดาษ" ฝุ่น PM2.5 คลุมเมืองซ้ำ แต่มาตรการไม่คืบ

365 วัน "กรุงเทพมหานคร" เมืองในฝุ่น

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง